วารสารการเงินธนาคาร ประกาศรางวัล "นักการเงินแห่งปี 2564 Financier of the Year 2021" ให้กับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี Financier of the Year มาเป็นเวลา 38 ปีแล้ว โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2525 ในชื่อเดิมของรางวัล "นายธนาคารแห่งปี" เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่นที่มีผลงานโดดเด่น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืน ในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งรางวัลนักการเงินแห่งปี ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาว่าเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ
ในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัล "นักการเงินแห่งปี" ลงมติเอกฉันท์ มอบรางวัลเกียรติยศ นักการเงินแห่งปี 2564 Financier of the Year 2021 ให้กับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ด้วยผลงานที่โดดเด่นผ่านคุณสมบัติการเป็นนักการเงินแห่งปี ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้านคือ
- เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย
- เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
- เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตและยั่งยืนให้กับองค์กร
- เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
นับตั้งแต่เข้ามาบริหารงานใน ธอส. นายฉัตรชัยได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น "ธนาคารที่ดีที่สุด สำหรับการมีบ้าน" และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารอย่างยั่งยืน ด้วยกลไก 3 ด้าน (GHBank Drive Engine) คือ
- การดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึงข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ
- การเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูง
- การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนต่ำ ภายใต้กรอบภารกิจและหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย เพื่อให้ภารกิจ "ทำให้คนไทยมีบ้าน" บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
พร้อมๆ ไปกับการทำหน้าที่ผลักดันมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธอส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 20 มาตรการที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยมีลูกค้าเข้ารับความช่วยเหลือตามมาตรการเป็นจำนวนสูงสุดกว่า 9.69 แสนบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถปรับตัวผ่านวิกฤติจนเข้มแข็งได้
ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นายฉัตรชัย ได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธนาคารสามารถออกสลากออมทรัพย์ในปี 2562 และเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ จึงออกแบบสลากออมทรัพย์ ธอส. ให้แตกต่างจากสลากออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิมในตลาด จึงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
ความสำเร็จของการระดมเงินด้วยต้นทุนต่ำผ่านการออกสลากออมทรัพย์ ทำให้ ธอส. สามารถลดภาระในการระดมเงินจากช่องทางอื่นออกไปได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงได้อย่างก้าวกระโดด จึงนำประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง ไปออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีบ้านตามภารกิจหลักของธนาคาร
ในด้านยุทธศาสตร์การก้าวสู่ Digital Banking นายฉัตรชัย ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารให้แข็งแรง ทั้งปรับองค์กรไปสู่ระบบการทำงานที่ใช้ดิจิทัลอย่างเต็มรูป หรือ Fully Digital มีการลงทุนด้านดิจิทัล รวมถึงเพิ่มทักษะความสามารถของพนักงาน ด้วยการ Upskill และ Reskill พนักงานให้ตอบรับกับดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ดีขึ้น ส่งผลให้ธนาคารมีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
นอกจากนี้ ยังได้ขยายบริการดิจิทัลของธนาคารให้เติบโตขึ้น เพื่อให้สอดรับกับลูกค้าของธนาคารที่ได้ปรับพฤติกรรมในการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนลูกค้าที่สมัครและใช้บริการ GHB ALL 1.13 ล้านราย ส่งผลให้ Digital Transaction ผ่าน GHB ALL มีสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของ Transaction ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ธอส.ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของผลประกอบการในฐานะธนาคารของรัฐได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้ปีละประมาณ 210,000-225,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ที่สูงที่สุดในระบบ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 166,173 ล้านบาท 117,802 บัญชี เพิ่มขึ้น 6.53% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 สินเชื่อคงค้างรวม 1,408,857 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,455,358 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.52% และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ 108,201 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 169.80%
ธอส.ยังคงมีกำไรสุทธิตามตัวชี้วัดของธนาคารที่ 8,966 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง โดย ณ เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 15.36% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50% สามารถคงความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยติดต่อกันมากกว่า 10 ปี
ในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) นายฉัตรชัยมุ่งเน้นการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริต ซึ่งคือหลักในการบริหารงานของ ธอส. ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีกลไกการถ่วงดุลและดูแลให้มีการควบคุม กำกับ และตรวจสอบตามหลักการ 3 Lines of Defense รวมถึงสนับสนุนให้จัดกิจกรรม CG & CSR Day เป็นประจำทุกปี เพื่อปลูกฝังให้พนักงานทุกระดับมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ขอบคุณข้อมูลจาก www.moneyandbanking.co.th