5 ข้อควรระวังในการใช้เงินวัยเกษียณ
เมื่อถึง "วัยเกษียณ" ความสามารถในการหารายได้ก็จะลดลง ใครที่วางแผนมาดี ก็จะมีเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวันต่อไปได้อย่างสบายๆ แต่ใช่ว่าจะใช้จ่ายอย่างไรก็ได้นะคะ ไม่เช่นนั้นแผนการเงินที่เราอุตส่าห์เตรียมไว้อย่างดิบดีก็อาจใช้ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้างที่คนวัยเกษียณควรระวังในการใช้เงิน
1. ระวังใช้เงินเกินควร
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ หลายคนอาจไม่ต้องทำงานประจำเหมือนแต่ก่อน ซึ่งนั่นก็หมายถึงรายได้ที่จะลดน้อยถอยลง แต่มีเวลาว่างมากขึ้นแทน บางคนอาจใช้เวลาว่างหมดไปกับการช้อปปิ้ง ซื้อของใช้ ซื้อของฝากลูกฝากหลาน ซึ่งการซื้อของเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยๆ เหล่านี้ก็อาจทำให้เงินในบัญชีที่เก็บไว้ลดลงไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันเลย
2. ระวังการจ่ายเงินก้อน
การจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ๆ เช่น การซื้อรถหรือดาวน์บ้านให้ลูกหลาน การแจกเงินทีละมากๆ ทุกครั้งที่รวมญาติ จะยิ่งทำให้เงินที่เราตั้งใจเก็บมาสูญไปเร็วภายในพริบตา หากตัดสินใจจะจ่ายเป็นก้อนใหญ่ๆ เราต้องแน่ใจก่อนว่าจะไม่กระทบกับเงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพหลังจากนี้นะคะ
3. ระวังการลงทุน
หลายคนอยากนำเงินที่เก็บไว้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากๆ จึงอาจเลือกการลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะรับได้ เมื่อเกิดภาวะตลาดผันผวน เงินที่หวังว่าจะได้รับก็อาจกลายเป็นขาดทุนไปเสียดื้อๆ หากคิดจะลงทุนก็ควรเลือกรูปแบบและความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเองจะดีกว่าค่ะ
4. ระวังอาชีพใหม่
เมื่อไม่ได้ทำงานประจำแล้ว บางคนก็เริ่มมองหาอาชีพใหม่ทำเพื่อหารายได้ทดแทน เช่น เปิดธุรกิจร้านอาหาร หรือไปซื้อที่เพื่อทำไร่ทำสวนอย่างที่เคยฝันไว้ แต่เพราะไม่มีประสบการณ์มากพอ อาชีพใหม่จึงอาจทำให้ขาดทุนมากกว่าจะสร้างกำไร หรืออาจทำให้บางคนถึงขึ้นเป็นหนี้ตอนแก่เลยก็ได้นะคะ
5. ระวังจะถูกต้มตุ๋น
มิจฉาชีพมักจะพุ่งเป้าไปที่คนวัยเกษียณ เพราะส่วนใหญ่จะมีเงินก้อนเก็บไว้ เล่ห์เหลี่ยมหรือเทคนิคที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อเงินก็มีหลายรูปแบบ ทางที่ดีควรมีสติและอย่าหลวมตัวหลงเชื่อเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นเงินที่เพียรเก็บมาทั้งชีวิตอาจหายไปภายในพริบตา ซึ่งก็น่าเสียดายมากๆ เลยค่ะ
แม้ว่าจะมีเงินเก็บและวางแผนมาอย่างดีแล้วก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเข้าสู่ "วัยเกษียณ" จริงๆ การวางแผนการเงินและการระมัดระวังในการใช้จ่าย ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เรามีเงินสำหรับใช้จ่ายไปจนถึงบั้นปลายของชีวิตได้อย่างไม่ฝืดเคืองอย่างไรล่ะคะ