แต่งงานทั้งทีต้องมีเงิน 3 ก้อน!
จากบทความก่อนหน้านี้ที่กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตคู่ ว่าจะต้องเตรียมตัวยังไง วางแผนยังไงกันแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่ต้องรู้เช่นกัน นั่นก็คือ ในการจะแต่งงานทั้งทีนั้น จะต้องเตรียมเงินยังไง เท่าไรถึงจะพอสำหรับค่านั่นค่านี่ ซึ่งหลักๆ แล้ว ต้องใช้ถึง 3 ส่วนด้วยกัน มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง?
ก้อนที่ 1 : สินสอดหยอดรัก
เพราะสินสอดคือด่านแรกของการแต่งงาน ถ้าสินสอดไม่มา พ่อตาแม่ยายคงไม่โอเคแน่ และคงยากที่จะผ่านด่านครอบครัวของเจ้าสาวไปได้ ดังนั้นทางฝ่ายเจ้าบ่าวเองควรจะเอ่ยปากถามทางครอบครัวของเจ้าสาวให้ชัดเจนก่อนว่า "สินสอดเท่าไรดีคร้าบบ?" ซึ่งจำนวนสินสอดนั้นไม่มีคำตอบตายตัวหรอก จะมีก็แต่คำตอบที่ว่าทั้งสองฝ่ายนั้น "พอใจ" หรือไม่ต่างหากล่ะ
และหลังจากที่ได้ทราบจำนวนสินสอดแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การวางแผนหาเงินเพิ่มเพื่อให้ถึงจำนวนสินสอดที่ต้องการ ซึ่งอยากจะย้ำว่า เงินสินสอดก้อนนี้หายไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นเงินก้อนแรกที่ฝ่ายชายนั้นต้องนำมาวางต่อหน้าผู้ใหญ่ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้ฝ่ายเจ้าสาวนั่นเอง! เพราะฉะนั้นเลือกวิธีออมเงินดีๆ วิธีที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่าออมทรัพย์ธรรมดานั้นก็มีอยู่มากในปัจจุบันค่ะ
ก้อนที่ 2 : เงินจัดงานสานฝันคู่บ่าวสาว
หลังจากที่ผ่านด่านแรกกันไปเรียบร้อยแล้ว ด่านต่อมาก็คือ การจัดงานแต่งงาน โดยส่วนนี้คู่รักทั้งสองต้องเตรียมงบประมาณการจัดงานให้เรียบร้อย ซึ่งงบประมาณที่ว่ามีตั้งแต่หมื่นปลายๆ แสนต้นๆ ไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการและฐานะทางการเงินของครอบครัวคู่บ่าวสาว ลองมาคิดคร่าวๆ ดูกันดีกว่าค่ะว่าจะใช้งบประมาณประมาณเท่าไร
- ค่าใช้จ่ายเตรียมก่อนวันจัดงาน ประมาณ 50,000 บาท เช่น ค่าดูฤกษ์ยาม ค่าการ์ดเชิญ ถ่ายภาพ ของชำร่วย ฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายงานหมั้น (เช้า) ประมาณ 150,000 บาท ได้แก่ ค่าชุดพิธีการ สถานที่ แหวนหมั้น แต่งหน้าทำผม พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ
- ค่าใช้จ่ายงานแต่ง (เย็น) ประมาณ 500,000 บาท ได้แก่ ค่าโต๊ะจีน ค่าชุดงานแต่งงาน ของหน้างาน นักร้อง และสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด ฯลฯ
นี่แค่ลองคิดคร่าวๆ นะคะ ต้องใช้งบตั้ง 700,000 บาท!!! ไม่ใช่เล่นๆ เลยทีเดียว บางคู่อาจจะได้รับเงินสินสอดกลับมาจัดงานแต่งก็ดีไปค่ะ แต่ถ้าไม่ได้กลับมาก็คงต้องพยายามกันมากขึ้นนะคะ T_T
เอาล่ะ! เมื่อได้ตัวเลขที่ต้องการแล้ว หลังจากนั้นลองเอาตัวเลขไปคำนวณดูใน
เครื่องมือคำนวณการวางแผนเพื่อการแต่งงาน กันดีกว่าค่ะ เพื่อจะได้รู้ว่า ตอนนี้เรามีเงินพอที่จะแต่งงานหรือยัง? สำหรับมิธีการคำนวณก็ไม่มีอะไรมากค่ะ ให้นำจำนวนเงินที่ต้องการ หารด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะจัดงานแต่งงาน เพื่อให้ได้จำนวนเงินที่เราต้องเก็บโดยประมาณต่อเดือน สมมติว่า ถ้าคู่บ่าวสาวอยากแต่งงานในอีก 2 ปีข้างหน้า และต้องการเงิน 600,000 บาทเพื่อจัดงาน เราก็คำนวณง่ายๆ โดยเอางบประมาณหารด้วยจำนวนเดือน (24 เดือน) ได้ผลลัพธ์ออกมาเดือนละ 25,000 บาท ซึ่งคู่บ่าวสาวเองก็ต้องมาตกลงกันแล้วค่ะว่า จะช่วยกันเก็บเงินยังไง หรือถ้าไม่ไหวก็ต้องมีการปรับงบประมาณกันใหม่แล้วล่ะค่ะ
คำเตือน! การจัดงานแต่งงานควรจัดให้สมฐานะทางการเงิน ไม่ควรเลือกเริ่มต้นด้วยการกู้หนี้ยืมสินเพื่อจัดงานแต่งงานเด็ดขาด เพราะบางทีมันอาจจะก่อหนี้และภาระอื่นๆ ตามมา จะให้เกิดความลำบากต่อเงินก้อนสุดท้ายนั่นก็คือ เงินที่ต้องใช้หลังแต่งงาน นั่นเองงง...
(รูปภาพจาก www.smarterbucks.com)
ก้อนที่ 3 : เงินที่ต้องใช้หลังแต่งงาน
เงินก้อนที่ 3 นี้ถือว่าเป็นก้อนที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของครอบครัวใหม่ที่กำลังจะมาถึง เรียกได้ว่าคุณภาพชีวิตจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงินก้อนนี้เลยทีเดียว เพราะเงินที่เอาไว้ใช้หลังแต่งงาน คือเงินที่ใช้ในการเริ่มต้นครอบครัวหลังจากวันที่ทั้งสองคนกลายมาเป็นคนๆ เดียวกัน
"การแต่งงานคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่" ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นมานั่นเอง จากคนที่ไม่เคยอยู่ร่วมกันกลับต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกัน จึงทำให้ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งคู่ควรประหยัดเงินและสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยกัน ควรเริ่มต้นจากการสร้างวินัยในการออม โดยการฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือน หรือถ้าใครรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกต่อหนึ่งค่ะ
ชีวิตคู่จะ Happy Forever ถ้าไม่ละเลยเงิน 3 ก้อนนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ธนาคารไทยพาณิชย์