มาจัดพอร์ตลงทุน เตรียมเกษียณกันดีกว่า
การเตรียมตัวเกษียณที่ดี คือการคิดเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ วัยทำงานนั้นถือว่าเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุด เพราะยิ่งถ้าเรามีเวลามากเท่าไร เราจะยิ่งมีการวางแผนและการเก็บเงินจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การลงทุนที่นิยมกันก็คือ การซื้อกองทุน ทั้ง LTF และ RMF ซึ่งมักจะมาคิดเอาตอนช่วงปลายปีกันซะส่วนใหญ่ เพราะหวังผลขั้นต้นจากการนำไปลดหย่อนภาษี แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมากระจุกกันอยู่แค่ช่วงนี้ก็ได้ เราสามารถแบ่งเงินมาซื้อกองทุนได้ตลอดทั้งปี ดีไม่ดีแห่ซื้อกันช่วงนี้ คนก็เยอะ (เพราะมัวแต่คิดเหมือนกันหมด) พนักงานแต่ละกองก็อาจให้บริการไม่ทัน เผลอๆ ซื้อไม่ทันสิ้นปีก็มี
สำหรับการซื้อกองทุน LTF และ RMF นั้น มักเป็นคนในกลุ่มที่ชอบวางแผน เพราะเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว ซึ่งในความยาวของกองทุนทั้งสองแบบนี้ LTF ว่ายาวแล้ว คือเมื่อซื้อมาแล้ว จะขายได้ก็ต้องรอ 5 ปีปฎิทิน แต่ RMF นี่เรียกว่ายาวยิ่งกว่ายาว คือจะขายได้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อถือครองจนอายุครบ 55 ปี และถือครองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี (รวมๆ แล้วก็อายุ 60 ปีพอดี) เพราะฉะนั้น RMF นี่แหละคือแหล่งกองทุนที่น่ามองไว้สำหรับตอนเกษียณ
1. กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ
กองทุนที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุนกลุ่ม Silver Age ที่เน้นการลงทุนในกลุ่มของผู้สูงอายุที่เริ่มเกษียณ และมีกำลังซื้อสูงในต่างประเทศ และเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์เพราะคนผู้คนกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพหลังเกษียณ แต่กองทุนนี้ก็มีความเสี่ยงและความผันผวนระยะสั้น ต้องเน้นให้ลงทุนระยะยาวๆ
2. กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์แบบ Fund of Fund
ถึงจะดูว่าภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีข่าวเรื่องการชะลอตัว แต่การเลือกลงทุนกับกองทุนในอสังหาฯ นั้น ในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร และความผันผวนไม่ได้มีมากเท่าสถานการณ์ที่เราเห็น เพราะการขึ้นลงของแต่ละภาคเศรษฐกิจนั้นย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้วล่ะก็ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ยังถือว่ามีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
3. กองทุน RMF ตราสารหนี้ระยะกลาง - ยาว
เป็นการลงทุนที่เหมาะสำหรับที่คนรับความเสี่ยงสูงมากไม่ได้ หรือคนที่ใกล้จะเกษียณมากขึ้น ซึ่งสามารถนำเอากองทุนตราสารหนี้เหล่านี้มาเฉลี่ยความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนหุ้น RMF ได้ เพื่อที่จะได้มีความเสี่ยงโดยรวมไม่สูงเกินไป
นอกจากนี้ กองทุนผสมบางประเภทก็น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว เช่น กองทุน RMF แบบ Flexible Fund ที่มีการปรับสัดส่วนตราสารหนี้และหุ้นให้นักลงทุนอยู่ตลอดเวลา หรือกองทุน RMF ที่มีการปรับสัดส่วนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ได้อย่างอิสระ เช่น กองทุนแบบ All Asset Allocation ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงไม่สูงมากจนเกินไป และที่สำคัญการลงทุนในกองทุนก็ยังคงมีความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงนั้นเราก็ต้องศึกษาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดค่ะ
ขอขอบคุณ: หนังสือพิมพ์ M2F, www.one-asset.com, www.krungsri.com