เคล็ด(ไม่)ลับวางแผนภาษี แผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปีกันแล้วนะคะ สำหรับมนุษย์เงินเดือนคนไหนที่ยังไม่ได้วางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ อาจจะแย่นิดนึง เพราะไหนจะเก็บเงินไปเที่ยวปลายปี หรือใช้เงินซื้อประกันชีวิต หรืออื่นๆ อีกมากมาย ที่จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แค่คิดก็วุ่นวายแล้วใช่มั้ยคะ แต่ไม่ต้องห่วง วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ ในการวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนกันค่ะ เพราะถ้าเราวางแผนไว้อย่างดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วยได้
หากบริษัทฯ ไหนที่เราทำงานอยู่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะดีหน่อยค่ะ และเลือกสะสมเงินกองทุนในอัตราสูงสุดที่เราจะทำได้ (2 - 15%) เงินในส่วนที่หักไปนี้จะสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้สูงสุดถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว
2. อุ่นใจกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
อันนี้ในกรณีที่บริษัทฯ ที่เราทำงานอยู่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ เราสามารถวางแผนการเกษียณไปได้ทีเดียวเลย กับการสร้างกองทุนเกษียณของตัวเองด้วยการลงทุนผ่าน "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "RMF" นั่นเอง เราสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ต่อปี โดยสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ
3. เพิ่มเติมด้วยกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)
และสำหรับหนุ่มสาวท่านใดที่พอมีกำลังวังชาในการเก็บเงิน และรับความเสี่ยงได้มากกว่า ก็สามารถลงทุนเพิ่มใน "กองทุนหุ้นระยะยาว" หรือที่เรียกกันว่า "LTF" เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเงินที่เราลงทุนไปนี้จะสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทเช่นเดียวกับ RMF ค่ะ
4. กรมธรรม์ประกันชีวิต
การวางแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตผ่าน "กรมธรรม์ประกันชีวิต" โดยเลือกทำแบบประกันที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แล้วนำเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปในแต่ละปีมาคำนวณลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทค่ะ
5. แผนประกันชีวิตแบบบำนาญ
ฟังดูอาจจะนานไปนิดนึงนะคะ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อายุยังน้อยอยู่ สำหรับ "ประกันชีวิตแบบบำนาญ" ซึ่งเป็นแบบประกันที่ไม่มีเงินคืนระหว่างทาง แต่จะจ่ายเงินก้อนคืนทีเดียวตอนเราอายุ 55 ปี หรือเราจะเลือกรับเป็นเงินบำนาญไปเรื่อยๆ เป็นรายปีก็ได้ค่ะ แต่ระหว่างที่เราจ่ายเบี้ยประกันไปนั้น สามารถนำเบี้ยประกันในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีค่ะ และจากที่ผู้เขียนทราบมาว่า ถ้าเราเริ่มต้นทำประกันแบบบำนาญตอนอายุยังน้อย ข้อดีของมันคือ จ่ายเบี้ยประกันถูกกว่าทำตอนอายุเยอะค่ะ
เพิ่มเติม! "ฐานภาษีใหม่ ไฉไลกว่าเดิม"
ได้รู้เคล็ด(ไม่)ลับกันไปแล้ว ก็ลองเลือกดูที่เหมาะสมกับตัวเองนะคะ เพราะการออมแต่ละแบบนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคน แต่อย่าลืมหลักการง่ายๆ ที่ว่า "ออมก่อนใช้" เพราะถ้าหากเราวางแผนแต่ค่าใช้จ่ายโดยไม่แบ่งออมไว้ก่อน โอกาสที่จะหย่อนกระปุกเพื่อให้การวางแผนอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายค่ะ
ขอขอบคุณ: หนังสือพิมพ์ นิวทีวี, www.finkeycorporate.com, www.bam.co.th, www.pinstopin.com