เราจะได้อะไรใหม่จากประกันสังคมหลัง 20 ต.ค. นี้?
จากบทความตอนที่แล้ว ...
เงินของเรา เขาเอาไปทำอะไร?! ได้กล่าวถึงรายละเอียดของ "เงินประกันสังคม" ว่าที่เขาหักไปทุกๆ เดือนนั้น เอาไปทำอะไรบ้าง? แล้วเราในฐานะผู้ประกันตน จะได้สิทธิประโยชน์มากน้อยเพียงไร และวันนี้ก็มีข่าวดีมาบอกให้ทราบกันว่า ทางประกันสังคมนั้นมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่จะนำมามอบให้ผู้ประกันตนทั้งหลาย ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ต.ค. ที่จะถึงนี้ค่ะ ส่วนเราจะได้รับอะไรใหม่ๆ บ้างนั้น ลองมาดูกันเลย
1. ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
จากเดิมที่ได้แค่ค่าตรวจโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่และค่ารักษาพยาบาล จะได้เพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนอีกด้วย
2. ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย
จากเดิมที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเลย จะได้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพและตาย หรือยอมให้คนอื่นทำให้เกิดขึ้น
3. กรณีทุพพลภาพ
จากเดิมที่ผู้ประกันตนต้องเสียสมรรถภาพของร่างกายอย่างน้อยร้อยละ 50 ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน และถ้าทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มี.ค. 58 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้แค่ 15 ปี แต่หลังจากนี้ ถึงแม้สูญเสียไม่ถึงร้อยละ 50 ก็จะได้รับความคุ้มครองกรณีนี้ด้วย และยังจะได้รับเงินทดแทนกรณีขาดรายได้ไปตลอดชีวิต
4. ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้ทุพพลภาพ
จากเดิมที่ไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีตาย แต่หลังจากนี้จะได้รับเงินทดแทนกรณีตาย ถึงแม้จะส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิก็ตาม
5. กรณีคลอดบุตร
จากเดิมมีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง แบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท พร้อมเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน สิ่งที่จะได้เพิ่มคือ ไม่มีสิทธิได้รับโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง พร้อมทั้งเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง
6. กรณีสงเคราะห์บุตร
จากเดิมที่ได้รับสำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาทต่อคน จะได้เพิ่มเป็นรับครั้งละไม่เกิน 3 คน
7. กรณีว่างงาน
จากเดิมที่จะได้รับเงินทดแทนเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก จะได้ความคุ้มครองเพิ่มกรณีที่ว่างงาน กรณีที่นายจ้างต้องหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยที่ยังไม่มีการเลิกจ้าง
8. กรณีตาย
แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1: จากเดิมที่ก่อนถึงแก่ความตายส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือนขึ้นไป จะจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค้าจ้าง 1.5 เดือน เพิ่มเป็นถ้าก่อนถึงแก่ความตายส่งเงินสมทบตามจำนวนเดือนที่กล่าวมาข้างต้น จะจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน
กรณีที่ 2: จากเดิมที่ก่อนถึงแก่ความตายส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะจ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มเป็นถ้าก่อนถึงแก่ความตายส่งเงินสมทบตามจำนวนเดือนที่กล่าวมาข้างต้น จะจ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
และในส่วนอื่นๆ ที่เพิ่มเติมจากเดิมของประกันสังคมคือ
- เงินสมทบ
- รัฐบาลสามารถออกประกาศลดหย่อนการออกเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน และนายจ้างให้ได้รับผ่อนปรนการเก็บเงินสมทบในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติ
กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่เกินก่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน - ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์
- ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุคนที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท แต่หากไม่มีทายาทจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ยา ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
- ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี - ขยายความคุ้มครอง
- ขยายความคุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการ ไปถึงลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ
- ขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในต่างประเทศและไปประจำทำงานในต่างประเทศ
และนอกจากนี้ยังกำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนไม่เป็นที่ราชพัสดุ จะมีผลทำให้สำนักงานประกันสังคมสามารถนำเงินกองทุนไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง และยังเพิ่มความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการทำงานของสำนักงานประกันสังคมได้อย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับที่ 4 www.sso.go.th