แบงก์แบบไหน ที่เรียกว่าชำรุด?
ธนบัตรหรือแบงก์ที่ใช้ไปนานๆ ถูกเปลี่ยนไปหลายมือ ก็จะทำให้สภาพของแบงก์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เปรอะเปื้อน สีซีด เปื่อยขาด หรือโดนหนู ปลวกแทะ โดนไฟเผา แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากรับหรือเอาแบงก์พวกนี้ไปใช้ จึงได้มี พ.ร.บ. ออกมาว่าแบงก์ชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ง่ายๆ คือ ใช้ไม่ได้นั่นเอง และได้แบ่งแบงก์ชำรุดออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. แบงก์ครึ่งฉบับ ก็คือ แบงก์ที่ถูกแยกตรงกลาง หรือใกล้กับกลางเป็น 2 ส่วนตามแนวยืนเท่านั้น
2. แบงก์ต่อท่อนผิด คือ แบงก์ที่มีส่วนของแบงก์อันอื่นมาต่อเป็นฉบับเดียวกัน
3. แบงก์ขาดวิ่น คือ แบงก์ที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไป
4. แบงก์ลบเลือน คือ แบงก์ที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่เห็น หรือไม่ได้ความ
เจอแบบนี้ไป ก็อาจจะหงายเงิบกันได้ค่ะ ว่าจะยังสามารถนำแบงก์เก่าๆ หรือแบงก์ชำรุดพวกนี้ไปแลกได้อีกหรือไม่? แล้วจะแลกได้ที่ไหน? คนที่จะขอแลกเปลี่ยนแบงก์ชำรุด จะต้องทำคำร้องเป็นหนังสือตามแบบ ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก ธปท. โดยแนบแบงก์ชำรุดนั้นไปด้วย
เกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนแบงก์ชำรุดก็จะมีดังนี้ - แบงก์ครึ่งฉบับ ให้แลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของฉบับเต็มของแบงก์นั้น
- แบงก์ต่อท่อนผิด ถ้าไม่เกิน 2 ท่อน แต่ละท่อนเป็นแบงก์แบบและชนิดเดียวกัน ให้แลกเต็มราคาของแบงก์นั้น
- แบงก์ขาดวิ่น ให้แลกเฉพาะที่เห็นว่าส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ ให้แลกเต็มราคาของแบงก์นั้น
- แบงก์ลบเลือน ให้แลกเฉพาะเมื่อเห็นว่าการลบเลือนนั้น ไม่ถึงกับทำให้ไม่รู้ว่าเป็นแบงก์ที่แท้จริง โดยให้แลกได้เต็มราคาของแบงก์นั้น
สถานที่ติดต่อขอแลกเปลี่ยนแบงก์ชำรุด - ธนาคารออมสินทั่วประเทศ (ให้บริการทุกวันในเวลาทำการ)
- ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ (ให้บริการเฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้าง)
การขอแลกเปลี่ยนธนบัตรหรือแบงก์ชำรุด ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ: ธนาคารแห่งประเทศไทย