จับทิศทางความเคลื่อนไหวในประเทศไทย แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน และหุ้นเด่น โดยกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยจัดงานสัมมนา "จับทิศทางความเคลื่อนไหวในประเทศ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน และหุ้นเด่น" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2558 เวลา 13.00 - 17.00 น. ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าที่ประกอบธุรกิจได้ทราบถึงทิศทางเศรษฐกิจ
โดยในงานสัมมนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก นางสาวปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธ.กสิกรไทย และนางสาวณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธ.กสิกรไทย บรรยายในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจโลกและนัยต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2558"
และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน/สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธ.กสิกรไทย และนางสาววิภาวี ภูดิสานนท์ ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธ.กสิกรไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อ "จับทิศทางความเคลื่อนไหวในประเทศ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน และหุ้นเด่น" โดยมี คุณสินีนาถ สวัสดิ์พูน พิธีกร/ผู้ประกาศข่าว Money Channel เป็นผู้ดำเนินรายการ
สรุปประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจโลกวันนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ให้ความชัดเจนถึงแนวโน้มมากขึ้น เศรษฐกิจโลกยังคงมีสหรัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งจีน ยูโรโซน รวมถึงญี่ปุ่นยังมีความเปราะบางอยู่ โดยในที่นี้จะกล่าวแยกเป็นโซนเศรษฐกิจสำคัญ ดังนี้
- เศรษฐกิจจีนกลับกลายเป็นเศรษฐกิจที่เรามีความกังวลมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รวมถึงความเชื่อมโยงในระดับสูงระหว่างจีนกับไทย ปัจจุบันภาพเศรษฐกิจจีนยังชะลอลงอยู่ สะท้อนได้จากการนำเข้าที่ยังหดตัวในระดับสูง รวมถึงกิจกรรมทั้งในภาคการผลิตและบริการที่ยังไม่เห็นโมเมนตัม การปรับตัวด้านราคาเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัว ซึ่งทาง ธ.กสิกรไทย มองว่าเพื่อควบคุมและแก้ปัญหาต่อเนื่อง จีนจำเป็นต้องออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในปีนี้
- เศรษฐกิจยูโรโซน ถือได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่เห็นภาพสดใสมากขึ้น หลังจากที่ทางการออกมาใช้มาตรการแบบผ่อนคลายอย่างหนัก ทำให้เห็นโมเมนตัมที่ดีขึ้นในด้านการใช้จ่าย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมถึงความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดเริ่มปรับลดลง แต่อย่างไรก็ดี กำลังแรงงานที่เหลืออยู่ในตลาดมาก น่าจะทำให้การเร่งตัวของเศรษฐกิจมีข้อจำกัด และยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเชิงนโยบาย เพื่อหนุนให้ข้อจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจปรับลดลง ความเสี่ยงสำคัญที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาหนี้ของกรีซ แต่ดูเหมือนว่าตลาดได้เตรียมตัวเตรียมใจไปแล้วพอสมควร
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ เห็นการฟื้นตัวได้ในเกณฑ์ดี แต่สัญญาณจากตลาดแรงงานเริ่มบ่งชี้แล้วว่า น่าจะได้เห็นเศรษฐกิจกลับมาเร่งขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง การจ้างงานเห็นการขยายตัวขึ้นในทุกภาคส่วน ทางธนาคารฯ จึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ของการมีระดับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
สรุปประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจไทยวันนี้
เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาฟื้นตัว เนื่องจากการบริโภคในประเทศและการส่งออกยังคงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยที่กดดันการส่งออกไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ความไม่สามารถผลิตสินค้าไฮเทค และการเปลี่ยนแปลงของรสนิยมผู้บริโภค ดังนั้น ทางธนาคารฯ มองว่าการส่งออกไทยอาจไม่สามารถขยายตัวได้เลยในปีนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยเพียงแค่ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น ถึงหลายคนจะเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ทางธนาคารฯ ก็ยังมองว่า ทั้ง 2 ปัจจัยจะไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เนื่องจากมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดปีนี้ โดยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 4.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้า
สรุปประเด็นสำคัญด้านค่าเงินวันนี้
ธนาคารฯ มองว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติ และมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน 2558 ภาพรวมเงินดอลลาร์แข็งค่าจะยังเห็นในปี 2015 และ 2016 ขณะที่ธนาคารกลางประเทศหลักอย่างยูโรโซนและญี่ปุ่นยังดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เมื่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่การดำเนินธุรกิจไม่ราบรื่นเหมือนเดิม คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นจะยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเช่นนี้ไปก่อน จนกว่าการปฏิรูปจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ในทางตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในขาขึ้น ซึ่งหมายถึงว่า ส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะปรับแคบลง เป็นการบ่งชี้ว่า USD/THB จะปรับสูงขึ้น หรือเงินบาทปรับอ่อนค่าขึ้น
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2888-8822 หรือ
www.kasikornbank.com