รวมกลโกงช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องระวัง

icon 2 พ.ย. 65 icon 3,923
รวมกลโกงช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องระวัง
"ช้อปปิ้งออนไลน์" ถือว่าเป็นช่องทางที่สะดวกสบายที่สุดในการซื้อ – ขายสินค้า เพราะแค่มีอินเทอร์เน็ต กับแอปพลิเคชันสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ก็สามารถทำได้อย่างสบายๆ ภายในเวลาไม่กี่นาทีเลยค่ะ และด้วยความที่เราไม่ได้ทำการซื้อขายกับแม่ค้า หรือลูกค้าแบบตัวต่อตัวนี่เอง จึงกลายเป็นโอกาสให้มิจฉาชีพจำนวนไม่น้อยเข้ามาใช้กลโกงสารพัดวิธีในการซื้อขาย โดยเฉพาะการโกงภายใต้บทบาท "พ่อค้า - แม่ค้า" หรือ "ลูกค้า" ซึ่งถ้าไม่สังเกตให้ดี ก็มีโอกาสพลาดให้คนเหล่านี้ได้ง่ายๆ เลยค่ะ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีกลโกงไหนบ้างที่เหล่าโจรออนไลน์มักจะชอบใช้กันบ่อยๆ

 กลโกงจากผู้ขาย 

 

1. หลอกให้โอนเงิน

วิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่เหยื่อเจอกันบ่อยสุดๆ เลยค่ะ มิจฉาชีพจะอาศัยการขโมยรูปของคนอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นของตนเอง แล้วขายต่อให้ผู้ซื้อ (โดยบางครั้งอาจใช้รูปที่ถ่ายเองจริงๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ) พอเหยื่อโอนเงินก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งของ ไม่ตอบข้อความ หรือที่แย่ที่สุดคือพอได้เงินจากเหยื่อก็ชิงตัดการติดต่อทุกช่องทางทันที ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกผู้ซื้อ ปิดบัญชีผู้ใช้ หรือปิดโทรศัพท์หนี ถ้าไม่อยากโดนเชิดเงินหนีไปง่ายๆ แบบนี้ แนะนำให้เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่ไว้ใจได้เท่านั้นนะคะ

2. ส่งของไม่ตรงปก

การซื้อของกับผู้ขายที่มีประวัติการส่งของให้ลูกค้าจริง ไม่ได้หลอกให้โอนเงิน ไม่ได้เป็นการการันตีว่าของที่เราได้รับจะเหมือนกับของในรูปเสมอไปค่ะ (หรือที่เขาเรียกกันว่าสินค้าไม่ตรงปกนั่นแหละ) เพราะว่ามีอยู่บ่อยครั้งที่สินค้าที่ลูกค้าได้รับนั้นมีสภาพต่างกับในรูปลิบลับ อย่างกับหนังคนละม้วนเลยทีเดียว หากใครโดนแบบนี้ ให้รีบติดต่อผู้ขายเพื่อหาทางชดเชยโดยด่วนเลยค่ะ

3. ขายของปลอม

วิธีนี้มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในการซื้อขายของที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง หายาก หรือไม่ก็สินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมมากๆ มิจฉาชีพจะอ้างว่าของที่ขายเป็นของแท้ จนเหยื่อเชื่อและตกลงซื้อไป สุดท้ายแล้วดันกลายเป็นของปลอมซะงั้นค่ะ ยิ่งเป็นของปลอมที่ตั้งราคาขายสูงเท่าของแท้ ยิ่งเจ็บใจเข้าไปใหญ่ ใครจะซื้อของที่เสี่ยงต่อการได้ของปลอม ก็อย่าลืมดูรีวิวจากผู้ซื้อคนอื่นก่อนนะคะ

4. หลอกขายของไม่มีคุณภาพ

มิจฉาชีพจะใช้การโปรโมทสินค้าที่ชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณสารพัด ใครเห็นก็อยากจะลองซื้อไปใช้ดูสักครั้ง แต่สุดท้ายเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐาน ถ้าใครหลงเชื่อขึ้นมาขอบอกเลยว่านอกจากจะเสียเงินไปแบบฟรีๆ แล้ว ยังอันตรายอีกด้วยค่ะ ถ้านึกไม่ออกว่าอันตรายอย่างไร ลองนึกภาพตอนเราทานอาหารเสริมที่ใส่สารอันตราย หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าดูสิคะ เพราะฉะนั้นในการเลือกช้อปสินค้าแต่ละครั้งก็ควรดูความน่าเชื่อถือทั้งของตัวผู้ขาย และตัวสินค้าด้วย เพื่อความปลอดภัยสูงสุดค่ะ

 
แต่แน่นอนว่าถ้าผู้ขายเป็นมิจฉาชีพได้ ผู้ซื้อเองก็เช่นกันค่ะ ดังนั้นผู้ที่ขายของออนไลน์เองก็ควรระวังโจรที่แฝงตัวเข้ามาเป็นลูกค้า โดยกลโกงบางอย่างก็แนบเนียนอย่างคาดไม่ถึงเลยจริงๆ ค่ะ
 

 กลโกงจากผู้ซื้อ 

 

1. ส่งสลิปปลอม

หลายครั้งที่ผู้ขายไม่ได้ตรวจสอบสลิปจากลูกค้าให้ดี จนต้องเสียรู้ให้กับสลิปปลอม หรือสลิปที่ผ่านการตัดต่อ ซึ่งถ้าไม่ดูให้ดีๆ ก็แทบจะไม่รู้เลยค่ะ ดังนั้นผู้ขายจึงไม่ควรประมาท และเช็กทุกครั้งว่ามีเงินเข้าบัญชีตามจำนวนที่ระบุไว้บนสลิปหรือไม่

2. หลอกให้คนอื่นซื้อของแทน

เพราะความซับซ้อนของกลโกงแบบนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนโดนหลอก แถมยังโดนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนโกงอีกด้วยค่ะ เนื่องจากมิจฉาชีพจะนำรูปสินค้าในร้านของเราไปแอบอ้างขายต่อให้ผู้อื่น โดยให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีของร้าน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงิน มิจฉาชีพจึงขโมยสลิปมาใช้ซื้อของกับผู้ขายอีกที เพื่อให้ร้านส่งของให้ตนเองแทน พอเหยื่อรู้ตัวก็จะเข้าใจผิดว่าเราคือมิจฉาชีพเพราะเป็นเจ้าของบัญชี ทั้งๆ ที่มิจฉาชีพตัวจริงได้ชิ่งหนีไปพร้อมกับสินค้าเรียบร้อยแล้ว

3. หลอกว่าไม่ได้ของ

การที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบเคลมสินค้าเมื่อผู้ซื้อเกิดความไม่พึงพอใจขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วค่ะ แต่ก็มักจะมีลูกค้าหัวหมอที่คอยอาศัยความใจดีของผู้ขายโดยอ้างว่าไม่ได้รับของที่ซื้อ หรือบอกว่าได้สินค้าไม่ครบ เพื่อให้ผู้ขายส่งสินค้าไปให้ใหม่ เลยกลายมาเป็นสาเหตุที่ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจำเป็นต้องหันมาใช้นโยบายการเคลมสินค้าโดยการให้ลูกค้าถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุนั่นเองค่ะ

4. ปลอมแปลง SMS แจ้งเงินเข้าบัญชี

ผู้ขายที่ใช้บริการแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน SMS ต้องระวังกลโกงนี้ไว้ให้ดีเลยค่ะ มิจฉาชีพจะส่งข้อความที่มีลักษณะเหมือนกันกับแจ้งเตือนจากธนาคาร เพื่อให้ดูเหมือนมีเงินเข้าบัญชีแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่าไม่ควรเช็กแต่ข้อความแจ้งเตือนเพียงอย่างเดียว ควรเช็กสลิปรวมทั้งรายการเดินบัญชีจากแอปพลิเคชันธนาคารด้วย ซึ่งอาจจะเสียเวลามากขึ้นเล็กน้อย แต่ปลอดภัยแน่นอนค่ะ


อย่างไรก็ตาม กลโกงที่ผู้เขียนได้รวบรวมมาไว้ในบทความนี้ ยังไม่ใช่ทั้งหมดนะคะ ยังมีรูปแบบการโกงที่เราคาดไม่ถึงอีกเพียบ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซื้อหรือฝ่ายขาย ก็ต้องเช็กให้รอบคอบก่อนทุกครั้ง (ไม่ชัวร์อย่าโอน! รวมกฎเหล็กที่ควรเช็กทุกครั้งก่อนช้อปออนไลน์) เพียงเท่านี้ก็สามารถทำการซื้อขายได้อย่างหายห่วงแล้วค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง กลโกง ช้อปปิ้งออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ ขายของออนไลน์ มิจฉาชีพออนไลน์ โดนโกง รวมกลโกงช้อปปิ้งออนไลน์
Money Guru
เขียนโดย สุทธิดา กาหา Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)