เมื่อพูดถึง "ประกัน" หลายๆ คนอาจจะอยากหันหน้าหนี เพราะตัวเราเองยังอายุไม่มาก มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องเสียเงินให้กับจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตปีละหลักหมื่นบาท แต่จริงๆ แล้ว "ประกัน" ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนการเงิน
หากมองเรื่องความคุ้มค่า ว่าจ่ายเบี้ยประกันปีละหลักหมื่นบาท แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา แน่นอนว่าประกันไม่คุ้มค่าเลย แต่หากมองเรื่องการปกป้องเงินเก็บของเรา โดยโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันแทน เมื่อเกิดเจ็บป่วยกะทันหัน เราไม่จำเป็นต้องนำเงินเก็บของเรามาจ่ายค่ารักษาทั้งหมด และยิ่งเราทำประกันที่มีวงเงินค่ารักษามาก อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ต้องแลกมากับเบี้ยประกันที่สูงขึ้น
แล้วมนุษย์เงินเดือนควรจะจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม และไม่เป็นภาระทางการเงิน บทความนี้มีคำตอบ...
ประโยชน์ของประกัน
- อุ่นใจเมื่อเจ็บป่วย ไม่มีใครรู้ว่าร่างกายจะส่งสัญญาณเจ็บป่วยมาเมื่อไหร่ ยิ่งอยู่ในวัยทำงาน อายุยังไม่มาก การเจ็บป่วยอาจดูเป็นเรื่องห่างไกล แต่หากมีประกันสุขภาพไว้ ก็จะอุ่นใจได้ว่า เมื่อเจ็บป่วยเราจะมีเงินก้อนจ่ายค่ารักษาแน่ๆ ไม่จำเป็นต้องเตรียมเงินก้อนไว้ล่วงหน้า หรือดึงเงินในเป้าหมายการเงินอื่นๆ มาใช้จ่ายค่ารักษา
- เป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง ไม่มีใครรู้ได้เช่นกัน ว่าวันไหนจะเป็นวันสุดท้ายของเรา หากเราเป็นผู้นำครอบครัว หรือมีรถ มีคอนโดที่ผ่อนอยู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ประกันชีวิตจะช่วยให้คนข้างหลัง สามารถยังมีรายได้จุนเจือในช่วงตั้งตัวได้ และยังสามารถนำไปจ่ายหนี้ที่เหลือของเรา ช่วยลดภาระให้กับคนข้างหลังอีกด้วย
- ลดหย่อนภาษี เบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ช่วยให้เราประหยัดภาษีได้มากขึ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่อง "วางแผนภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน ทำไมถึงต้องทำประกันชีวิต?" ที่นี่!!)
ค่าใช้จ่ายของมนุษย์เงินเดือน
มาต่อกันที่เรื่องค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายจะแบ่งเป็น 7 ส่วนหลักๆ คือ
- ค่าอาหาร
- ค่าเดินทาง
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง Gadget ต่างๆ เป็นต้น
- ค่า Subscription รายเดือน เช่น โทรศัพท์, Youtube Premium, Netflix, Spotify เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตัวเอง
- ค่าเก็บออมเพื่อเป้าหมาย
- ค่าใช้จ่ายหนี้สิน เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน-คอนโด
ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีทั้งแบบที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่เท่ากันทุกเดือนกับค่าใช้จ่ายผันแปร ที่เพิ่มลดตามการใช้จ่าย แต่ละคนจะมีรูปแบบการใช้จ่ายที่ต่างกันไป บางคนหนักที่ค่าอาหาร บางคนหนักที่ค่าเดินทาง บางคนหนักที่ค่าใช้จ่ายหนี้สิน ดังนั้นค่าเบี้ยประกันที่มนุษย์เงินเดือนจะต้องจ่ายในแต่ละปี ก็ไม่ควรมากเกินจนรบกวนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ แต่ก็ไม่ควรน้อยเกิน จนไม่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพ และชีวิตตามความเหมาะสมของเรา
เบี้ยประกันที่เหมาะสมกับมนุษย์เงินเดือน
จากค่าใช้จ่ายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละเดือน ทำให้เราไม่ควรจ่ายเบี้ยประกันเกิน 10-15% ของเงินเดือนทั้งปี เพื่อให้ไม่เป็นภาระทางการเงิน เช่น เงินเดือน 20,000 บาท คิดเป็นปีละ 240,000 บาท ควรจ่ายเบี้ยประกันที่ 24,000-36,000 บาท
วางแผนการจ่ายเบี้ยประกันอย่างไร
โดยปกติแล้วสามารถจ่ายได้แบบรายปี บางบริษัทอาจเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า โดยให้จ่ายราย 6 เดือน และรายเดือนได้ แต่สิ่งที่แลกมาคือจะมีดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามาด้วย ดังนั้นเพื่อนๆ ควรเลือกจ่ายแบบรายปี และเพิ่มเรื่องการวางแผนการเงินเข้ามา
เช่น ปัจจุบันเงินเดือน 30,000 บาท เลือกจ่ายเบี้ยประกัน 10% ต่อเงินเดือนทั้งปี ต้องจ่ายปีละ 36,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 3,000 บาท
เนื่องจากมีระยะเวลาเก็บเงินไม่ถึง 1 ปี เงิน 3,000 บาทนี้ ควรเก็บในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างเงินฝากออมทรัพย์ เพราะหากเก็บในสินทรัพย์เสี่ยงสูง อาจเกิดผลขาดทุน ทำให้ต้องดึงเงินส่วนอื่นมาจ่ายเบี้ยประกัน แต่หากใครที่รู้สึกว่าการเก็บในเงินฝากออมทรัพย์จะปนกับเงินส่วนอื่น ทำให้อาจเผลอไปใช้กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ควรเก็บในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นแทน ช่วยให้ดึงเงินออกมาใช้ยากขึ้น และเมื่อถึงระยะเวลาจ่ายเบี้ยประกัน เพียงทำรายการขายกองทุนล่วงหน้า 1 วันทำการ ก็ได้รับเงินเข้าบัญชีในวันทำการถัดไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่าควรจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไหร่ อย่าลืมที่จะวางแผนการเก็บเงิน และเลือกจ่ายเบี้ยประกันรายปีโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพื่อให้ไม่มีภาระทางการเงินเพิ่มเติมนะครับ