เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะหันไปมองทางไหน ก็มีแต่คนซื้อของออนไลน์กันทั้งนั้นเลยค่ะ (ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน) เพราะสะดวกสบาย มีสินค้าให้เลือกทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อที่หน้าร้าน เรียกได้ว่าซื้อง่ายขายคล่องจริงๆ ค่ะ แต่ทว่าความสะดวกเหล่านี้บางทีก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ด้วยความที่เราทำการซื้อขายโดยไม่เห็นหน้ากัน มิจฉาชีพจึงใช้ช่องทางนี้เป็นโอกาสในการ "โกง" สารพัดรูปแบบ ได้ของไม่ตรงปกบ้าง ไม่ยอมส่งของบ้าง หลอกให้โอนเงินบ้าง โกงทุกรูปแบบ โกงทุกวงการ ขอบอกเลยว่าจำนวนปัญหาจากการซื้อของออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้นทุกปีเลยค่ะ
ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะพาทุกคนไปดูเรื่องต่างๆ ที่ต้องเช็กก่อนช้อป ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจซื้อของออนไลน์ได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วนจะมีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ
เช็กประวัติการซื้อ-ขาย
ทุกครั้งเวลาที่เราจะตัดสินใจซื้อของ ก็มักจะดูจากรีวิวของคนที่เคยซื้อก่อนเป็นอันดับแรก ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วค่ะ การตรวจสอบประวัติซื้อ-ขาย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเช็กให้แน่ใจก่อนว่าผู้ขายคนนั้นๆ มีการส่งสินค้าให้ลูกค้าจริงๆ หรือไม่ และได้รับคำวิจารณ์จากผู้ซื้อไปในทิศทางใด ถ้าพบร้านค้าที่ไม่เคยแจ้งเลขพัสดุ หรือได้รับการตำหนิจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ก็แนะนำให้ผ่านไปดีกว่าค่ะ
เช็กบัญชีผู้ใช้ของผู้ขาย
หากเป็นร้านที่ลงขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter ก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ของผู้ขายก่อนว่ามีรูปไหม สร้างบัญชีผู้ใช้มานานแค่ไหนแล้ว และบัญชียังมีความเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่ เพราะผู้เสียหายส่วนใหญ่ให้ความเห็นที่ตรงกันว่าบัญชีของมิจฉาชีพมักเป็นบัญชีที่เพิ่งสร้างใหม่ ไม่มีรูปที่ถ่ายเอง (และบางรูปอาจจะไปขโมยมาจากที่อื่น) หรือไม่ก็แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ บนหน้าบัญชีผู้ใช้เลยค่ะ
เช็กสินค้า
หลังจากที่เราสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายได้แล้ว คราวนี้เรามาดูที่ตัวสินค้ากันบ้างค่ะ อาจจะเห็นกันมาเยอะแล้วที่คนขายส่งของให้เราจริงๆ แต่ของก็จะมาในสภาพที่ไม่ตรงปกบ้าง เสียหายบ้าง ที่แย่ไปกว่านั้นคือกว่าเราจะรู้ตัว คนขายก็ถือโอกาสชิ่งไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ถ้าไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ก็อย่าลืมขอดูรูปสินค้าจริงจากผู้ขายทุกครั้งนะคะ โดยแนะนำให้ขอรูปสินค้าพร้อมกระดาษที่ระบุลายมือชื่อผู้ขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างรูปของผู้อื่นค่ะ
ส่วนอีกวิธีที่แนะนำสำหรับใช้ตรวจสอบรูปสินค้า คือการใช้ฟังก์ชันจาก search engine ยอดนิยม อย่าง Google Images ค่ะ เพียงแค่อัปโหลดรูปแล้วค้นหา ถ้าเป็นรูปที่ถูกขโมยมาจากแหล่งอื่น ก็จะรู้ได้ทันที
คลิก Search by image แล้วอัปโหลดรูปได้เลย
ผลการค้นหาจะแสดงรูปเดียวกันจากหลายเว็บไซต์
ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการเช็กแบบนี้จะแพร่หลายในการซื้อ-ขายของมือสอง หรือของที่มีมูลค่าสูงมากกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ สินค้าแบรนด์เนม ของสะสมหายาก เป็นต้น ดังนั้นหากร้านไหนไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการตรวจสอบได้ ให้พิจารณาใช้วิธีอื่นแทนนะคะ
เช็กการบริการ
โดยปกติแล้วผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือมากพอ จะสามารถตอบข้อสงสัย และบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าชิ้นนั้นๆ ได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากให้สังเกตดีๆ เลยค่ะว่าผู้ขายมีคุณสมบัตินี้หรือไม่ ถ้าเจอพ่อค้าหรือแม่ค้าคนไหนที่พยายามจะบ่ายเบี่ยงการตอบคำถาม ก็ไม่ควรทำการซื้อขายด้วยค่ะ
เช็กกับเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน
นอกจากการตรวจสอบด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ทั้งสะดวกสบาย และรวดเร็ว นั่นก็คือการนำชื่อผู้ขายไปค้นหาในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ตรวจสอบประวัติการโกงโดยเฉพาะ ซึ่งผู้เขียนจะลองค้นหาในเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง blacklistseller.com ให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ
หากมีประวัติการโกง หน้าเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลขึ้นมาทันที
โดนโกงไปแล้ว ทำยังไงดี?
ด้วยความที่มิจฉาชีพมักจะมีกลโกงใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง และตามไม่ทันอยู่เสมอ ดังนั้นถึงจะเช็กดีแค่ไหนก็ย่อมพลาดกันได้ค่ะ มาดูกันว่าถ้าเรากลายเป็นเหยื่อไปแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง
1. รวบรวมหลักฐาน โดยจำเป็นต้องมีหลักฐานดังนี้
รูปโปรไฟล์ของผู้ขาย หรือภาพ Screenshot ของหน้าร้านบนเว็บไซต์
โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า
ประวัติการสนทนากับผู้ขาย
เลขบัญชีที่เราโอนเงินไป และหลักฐานการโอนเงิน
ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขาย เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา
2. แจ้งความ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกคำสั่งอายัดบัญชี ที่ สน. ที่ใกล้บ้านที่สุด หรือสามารถแจ้งได้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เลย (ต้องแจ้งภายใน 3 เดือนเท่านั้นนะคะ)
3. ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดบัญชีผู้ขาย โดยต้องใช้หลักฐานทั้งหมดที่เรารวบรวมไว้ รวมทั้งใบแจ้งความและคำสั่งอายัดบัญชีด้วย ในขั้นตอนนี้ธนาคารจะแจ้งเจ้าของบัญชีให้คืนเงิน ถ้าหากไม่คืนเงิน ก็จะมีการดำเนินคดีต่อไปค่ะ
4. หากสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ก็ควรรายงาน หรือติดต่อเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า เพื่อทำการระงับบัญชีผู้ใช้ เพื่อไม่ให้ไปโกงผู้ซื้อคนอื่นต่อ
5. บอกต่อคนอื่นๆ โดยการบันทึกข้อมูลลงเว็บไซต์ตรวจสอบคนโกง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ซื้อคนอื่นๆ ที่มาสืบค้นภายหลัง
เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้
ประเภทคุกกี้ อ่านเพิ่มเติม ที่นี่ |
ยินยอม / ไม่ยินยอม |
---|---|
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ (Strictly Necessary) |
|
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์ (Functionality) |
|
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์ (Performance & Analytics) |
|
คุกกี้เพื่อการตลาด (Marketing) |