หลังจากที่เราได้เริ่มวางแผนการเงินให้ตัวเองแล้วในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน พอถึงช่วงอายุที่เข้าสู่วัยกลางคน อายุประมาณ 45 ขึ้นไป คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ก็เริ่มคิดที่จะวางแผนมรดกกันจริงจังมากขึ้น เผื่อในกรณีที่เราต้องจากโลกนี้ไป คนที่เรารักจะต้องอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก
มีหลายวิธีมากมายในการที่เราจะส่งมอบมรดกให้ลูกหลาน หรือคนที่เรารักได้ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การลงทุนในหุ้น หรือกองทุนต่างๆ นะคะ แต่อีกวิธีที่ปลอดภัย และมีความคุ้มค่ามากๆ ที่หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือการทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต วันนี้ขอพาไปทำความเข้าใจ การส่งมอบมรดกผ่านการทำประกันชีวิต ผ่านในรูปแบบความคุ้มครองชีวิต กันค่ะ
ให้ลองนึกภาพแบบนี้นะคะ สมมติว่าเรามีตู้เซฟ 1 ใบ ซึ่งเราสะสมเงินเข้าไปเรื่อยๆ ทุกปี ปีละ 20,000 บาท จำนวน 20 ปี เป็นเงิน 400,000 บาท เมื่อเราจากไป ลูกหลานถึงจะมาเปิดเซฟใบนี้ เปิดมาพบว่าข้างในมีเงิน 1,000,000 บาท ซึ่งมูลค่าในตู้เซฟ ณ วันที่เจ้าของเสียชีวิต จะมีมากกว่าเงินที่สะสมเอาไว้ ในแง่ของการทำประกันชีวิต เงินในตู้เซฟ ก็คือ เงินทุนความคุ้มครองชีวิตนั่นเองค่ะ ซึ่งสามารถระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้ เพื่อรับเงินก้อนนี้ เป็นการทำมรดกผ่านประกันชีวิตนั่นเอง ที่สำคัญเงินก้อนนี้ปลอดภาษีอีกด้วยค่ะ
ยกตัวอย่างเบี้ยประกันชีวิต ผู้ชายอายุ 35 ปี
- เลือกทำประกันชีวิต 1,000,000 บาท
- ชำระเบี้ยประกันรายปี ประมาณ 22,300 บาท ต่อเนื่อง 20 ปี เป็นเงิน 446,000 บาท
- เมื่อเสียชีวิต (ปีไหน ตอนไหนก็ได้) จะมีเงินทุนประกัน 1,000,000 บาท ส่งมอบเป็นมรดก
ยกตัวอย่างเบี้ยประกันชีวิต ผู้ชายอายุ 45 ปี
- เลือกทำประกันชีวิต 1,000,000 บาท
- ชำระเบี้ยประกันรายปี ประมาณ 30,200 บาท ต่อเนื่อง 20 ปี เป็นเงิน 604,000 บาท
- เมื่อเสียชีวิต (ปีไหน ตอนไหนก็ได้) จะมีเงินทุนประกัน 1,000,000 บาท ส่งมอบเป็นมรดก
จากตัวอย่างพบว่า เบี้ยประกันของคนอายุ 35 กับ 45 ต่างกันอยู่ประมาณ 7,900 บาทต่อปี หากเริ่มทำประกันในตอนอายุน้อย เบี้ยก็จะถูกลงค่ะ
สรุปข้อดีของการวางแผนมรดกผ่านการทำประกันชีวิต
- กำหนดจำนวนเงินที่แน่นอนที่ต้องการส่งมอบให้แก่ทายาทได้
- จัดการเงินได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล หรือผู้จัดการมรดก โดยทายาทหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ สามารถรับเช็คจากบริษัทประกันได้ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
- ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เนื่องจากทุนประกันไม่ได้จัดเป็นทรัพย์มรดกที่มีไว้ก่อนตาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
- สร้างหลักประกันด้วยเงินก้อนใหญ่โดยใช้เงินก้อนเล็ก วางแผนเพื่ออนาคตและครอบครัวที่รัก
- ผู้เอาประกันสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท