"เที่ยวต่างประเทศใช้บัตรเครดิต" ดีไหม? และจะพกบัตรใบไหนไปดี?
ถ้าพูดถึงวัตถุประสงค์ที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศที่แปลกตาจากที่คุ้นเคยแล้ว สำหรับสาวๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการช้อปปิ้งอย่างแน่นอนนะครับ และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ก็คือเรื่องของ Pocket Money ว่าตลอดทั้งทริปจะต้องใช้จ่ายกันประมาณเท่าไหร่? และจะแลกเงินสดไปเยอะๆ เลยดีไหม? หรือจะใช้บัตรเครดิตควบคู่ไปด้วย และการใช้บัตรเครดิตจะมีข้อจำกัดอะไรบ้างหรือเปล่า? วันนี้ ทาง Checkraka ได้สรุป ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศมาให้ลองพิจารณากันก่อนตัดสินใจนะครับ
ข้อดีของการใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศ
(ก) ความสะดวกที่ไม่ต้องถือเงินสดเยอะๆ - นี่คือเหตุผลลำดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศ สะดวก ไม่ต้องถือเงินสดเยอะ และสะดวกทั้งรูดซื้อของได้รวดเร็ว เรียกได้ว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการซื้อของที่ต่างประเทศเลยครับ
(ข) สิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตที่แฝงอยู่ - ใครที่ชอบสะสมแต้มบัตรเครดิต (
เอาไปทำอะไรได้บ้าง ดูได้ที่บทความนี้ครับ) หรืออยากได้ส่วนลดซื้อของหน้างานเลย หรืออยากได้เงินคืนเอาไว้ไปรูดใช้จ่ายรอบบิลหน้า การไปต่างประเทศถือเป็นโอกาสดีที่จะสะสมสิทธิประโยชน์พวกนี้ นอกจากนี้ บัตรเครดิตหลายๆ บัตรมีสิทธิประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น บัตรบางบัตรใช้เข้า Airport Lounge สนามบินต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น
บัตรเครดิตซิตี้ รอยัล ออร์คิด พลัส พรีเฟอร์,
บัตรเครดิต SCB MY TRAVEL,
บัตรเครดิต ยูโอบี พรีวิไมลส์ (UOB Privimiles) ใช้สำหรับการเพิ่มแต้ม Mileage ได้ ถ้ารูดใช้บัตรที่ต่างประเทศ เป็นต้น (
ดูรายละเอียดโปรโมชั่นการใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศได้ที่นี่)
(ค) มีประกันภัยหรือประกันชีวิตให้ฟรี - เรื่องนี้หลายคนอาจนึกไม่ถึง หรือมองข้ามไปเลยว่าสิทธิประโยชน์ที่มากับบัตรเครดิตบ่อยๆ คือประกันภัย ซึ่งทำให้บางทีเราอาจไม่ต้องกดสั่งซื้อประกันเดินทางเลยด้วยซ้ำ แต่เงื่อนไขการประกันของแต่ละบัตรเครดิต เราคงต้องอ่าน Terms & Conditions ของแต่ละบัตรให้ดี ซึ่งประกันภัยที่อาจ Cover ให้ในบัตรเครดิตก็เช่น เครื่องบินล่าช้า กระเป๋าเดินทางหาย โดนล้วงกระเป๋า เวลาจะเลือกบัตรเครดิตที่จะเอาไปต่างประเทศ ให้เลือกบัตรเครดิตที่มีเงื่อนไขประกันไม่เยอะนะครับ เพราะหลายบัตรจะมีเงื่อนไขการประกันภัยไว้เยอะเหมือนกัน เช่น ถ้าจะได้สิทธิประโยชน์ประกันภัย จะต้องจองตั๋วเครื่องบินกับสายการบินบางที่เท่านั้น หรือใช้บัตรเครดิตนั้นๆ รูดซื้อเท่านั้น เป็นต้น ตัวอย่างข้างล่างคือเงื่อนไขของประกันภัยต่างประเทศของบัตร SCB First ครับ
ข้อเสียของการใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศ
เรามาถึงข้อเสียของการใช้บัตรเครดิตต่างประเทศกันบ้างครับ ส่วนใหญ่ธนาคารทุกที่จะโฆษณาแต่ข้อดีของบัตรเครดิต ไม่ค่อยมีธนาคารไหนบอกข้อเสียเวลาใช้บัตรเครดิตต่างประเทศ วันนี้ Checkraka จะขอชี้ให้เห็นว่า บัตรเครดิตต้องใช้ให้เป็นมีข้อดี ก็มีข้อเสียครับ
(ก) ต้องจ่ายอัตราแลกเปลี่ยนสองต่อ - ปกติ เราจะพอรู้กันอยู่แล้วว่า ธนาคารจะได้กำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนเวลาเราใช้รูดกันที่ต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารในเมืองไทยไปรูดซื้อของที่ญี่ปุ่น ธนาคารจะแปลงเงินเยนที่เรารูดไป (ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้สำหรับการแปลงสกุลเงินนี้จะแย่กว่าอัตราทั่วไปที่เราแลกได้ในขณะนั้นๆ อยู่แล้ว) เป็นเงินบาทแล้วชาร์จเราเป็นเงินบาท แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่รู้คือ ในกรณีแบบนี้ ธนาคารจะแปลงเงินเยน เป็นเงิน USD ก่อนเสมอ แล้วค่อยแปลงเงิน USD ที่แปลงมาแล้วนั้นเป็นเงินบาท ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้รูดซื้อของเป็น USD เราจะโดนชาร์จสองครั้งสำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเสมอ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว (
ดูตัวอย่างการคำนวณได้ในบทความนี้)
(ข) ต้องจ่ายค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ - นอกจากการโดนชาร์จอัตราแลกเปลี่ยนเงินในอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งปกติจะไม่ดีสำหรับเราแล้ว เรายังต้องจ่ายค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งธนาคารในเมืองไทยจะชาร์จกันอยู่ประมาณ 2.0% - 2.5% ของจำนวนเงินบาทที่แปลงมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าเรายิ่งรูดบัตรที่ต่างประเทศเยอะ ธนาคารก็จะยิ่งได้เยอะตามไปด้วย ธนาคารพวกนี้ถึงออกโปรโมชั่นล่อใจให้เราใช้ที่ต่างประเทศกันเยอะๆ ปัจจุบันนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562) บัตรเครดิตที่ชาร์จค่าความเสี่ยงต่ำที่สุดในตลาดคือ
บัตรเครดิต KTC และ
บัตรเครดิตของธนาคารไอซีบีซี ไทย (
ดูรายละเอียดที่แต่ละธนาคารชาร์จได้ที่นี่) ข้อความตัวอย่างข้างล่างนี้คือเงื่อนไขในการชาร์จค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศของบัตร KTC
(ค) ถ้าบัตรหาย ต้องรีบอายัด - ข้อเสียนี้จริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นได้ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ (เพียงแต่ว่าถ้าหายในต่างประเทศจะมีความวุ่นวายเพิ่มขึ้นในส่วนของการต้องโทรกลับประเทศไทยเพื่ออายัด หรือความแตกต่างเรื่อง Time Zone เป็นต้น) โดยหลักคือถ้าหายแล้วเรารู้ รีบอายัดทันที ก็ไม่มีปัญหา หรือในบางประเทศ การรูดบัตรเครดิตต้องมีการกด PIN ด้วย ถ้าหายในประเทศแบบนี้ ความเสี่ยงอาจไม่มาก แต่ถ้าหายโดยที่เราไม่รู้ หรืออายัดช้าเกินไป และประเทศที่หายนั้น การใช้บัตรเครดิตไม่ต้องมีการกดรหัส PIN ความเสี่ยงอาจจะเยอะทีเดียว หรือบางทีถ้าเราไม่แน่ใจว่าหายจริงหรือเปล่า เราก็สามารถเข้าไประงับการใช้งานบัตรเครดิตไว้เป็นการชั่วคราวก่อนได้ (แล้วค่อยเปิดกลับมาใช้อีกทีภายหลัง) เช่น ถ้าเป็นบัตรเครดิตของไทยพาณิชย์ เข้าไปที่ SCB Easy App และดูตามขั้นตอนข้างล่างนี้ครับ
1. เลือกธุรกรรมของฉัน | 2. มาที่หน้ารายการบัตรเครดิตของฉัน |
|
|
3. เลือกบัตรเครดิต ใบที่ต้องการระงับการใช้บริการ | 4. เลือกบริการอื่นๆ แล้วปิดฟังก์ชัน "ระงับการใช้บัตรชั่วคราว" |
|
|
สรุป
การใช้บัตรเครดิตที่ต่างประเทศนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย และแต่ละบัตรก็ให้สิทธิประโยชน์ หรือมีเงื่อนไขการใช้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ข้อแนะนำที่เป็นบทสรุปของเราคือ
(ก) เราต้องเลือกใช้บัตรเครดิตให้ถูกใบ (The Right One) โดยให้เลือกใช้บัตรที่ได้ประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยวต่างประเทศจริงๆ (ตัวอย่างบัตรเครดิตที่เน้นการท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น
บัตรเครดิต กรุงศรี เจซีบี แพลทินัม,
บัตรเครดิต KTC JCB Platinum และตัวอย่างบัตรเครดิตที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเกี่ยวกับการเดินทางต่างประเทศ เช่น
บัตรเครดิตวีซ่าแพลทินัม แรบบิท ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งไม่ได้เน้นสิทธิประโยชน์ที่ต่างประเทศโดยตรง แต่ให้สิทธิพิเศษที่โรงพยาบาลศิริราชมากกว่าครับ) โดยมี Checklist ที่จะช่วยให้ท่านเลือกบัตร The Right One ที่ได้ประโยชน์ และคุ้มเวลารูดในต่างประเทศตามนี้ครับ
- ประเทศที่เราจะไปรับบัตรเครดิตแค่ไหน และถ้ารับบัตรเครดิต รับค่ายไหนบ้าง หรือไม่รับค่ายไหนบ้าง หรือค่ายไหนได้ประโยชน์ดีสุด เช่น ถ้าไปญี่ปุ่น บัตร JCB จะเหมาะมาก หรือบางประเทศจะไม่รับ Amex เป็นต้น
- บัตรเครดิตไหนเสียค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศต่ำ (ต่ำคือ 2% เพราะปกติส่วนใหญ่จะเป็น 2.5% ของยอดใช้จ่ายที่แปลงเป็นเงินบาทแล้ว)
- บัตรเครดิตไหนมีการคุ้มครองด้านประกันภัยที่สูง หรือมีเงื่อนไขในการประกันภัยไม่เยอะ
- บัตรเครดิตไหนมีโปรโมชั่นสำหรับใช้ต่างประเทศ ณ ขณะนั้นๆ บ้าง เช่น ได้แต้มสะสมสองเท่า เงินคืน หรือส่วนลดเพิ่มจากปกติถ้าเอาไปใช้ที่ต่างประเทศ หรือบางประเทศ (ดูโปรโมชั่นล่าสุดได้ที่นี่)
- บัตรเครดิตไหนใช้ Airport Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หรือสนามบินในต่างประเทศได้บ้าง (ดู List ของบัตรเครดิตที่ใช้ใน Airport Lounge ได้ในบทความนี้)
(ข) นอกจากการเลือก The Right One แล้ว ในทางปฏิบัติ ถ้าเรามีบัตรเครดิตที่เหมาะจะใช้ในต่างประเทศได้หลายใบ และเอาไปหลายใบ ข้อแนะนำคือ อย่าใส่ทุกอย่างในกระเป๋าเดียวกัน เพราะถ้าหาย จะหายไปหมดเลย (Don't Put All Eggs in One Basket)
สำหรับคนที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้วยค่าเงินที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะถือ Pocket Money ในรูปแบบใด (เงินสด หรือบัตรเครดิต) ก็ขอให้ใช้จ่ายกันอย่างระมัดระวังนะครับ อย่าลืม! ว่า 1 เหรียญของบ้านเค้า ไม่เท่ากับ 1 บาทของบ้านเรา :) Enjoy Your Trip นะครับ