สรุปข้อเสนอ! เตรียมรื้อภาษีสรรพากรใหม่ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง...
จากที่ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร หรือ คกก. ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วม ซึ่งจะนำความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างประมวลรัษฎากรให้มีความทันสมัย เป็นธรรม และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทยให้สูงขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากปัจจุบันมีคนอยู่ในระบบภาษีเพียงกว่า 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 3 ล้านคน โดยมีข้อเสนอ 6 ประเด็น
ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรที่ได้มีการจัดสัมมนา เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังไม่มีผลตามกฎหมาย และยังไม่ได้มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด โดย
สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปภาษีเพิ่มเติม ได้ที่นี่ 1. ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร
มีกำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี เสนอให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี หรือมีเงินได้ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินได้ ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม
เน้นการสร้างค่านิยมในการเสียภาษี โดยกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้เข้าสู่ระบบภาษี เช่น การช่วยเหลือผู้มีเงินได้น้อย และการให้สิทธิประโยชน์เชิงสวัสดิการที่มิใช่เป็นตัวเงินแก่ผู้เสียภาษีมาก เป็นต้น
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ให้มีการจัดหมวดหมู่ และเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยเสนอให้ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่เหลือ 3 ประเภท โดยแยกตามวิธีการคำนวณภาษี คือ
- เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง (Earned Income) ได้แก่ เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1), (2) และ (6) เช่น การจ้างแรงงาน การรับทำงานให้ การประกอบวิชาชีพอิสระ โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา กำหนดวงเงินสูงสุด และปรับวงเงินทุกปี
- เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (Investment Income) เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ ค่าเช่า โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายตามจริง
- เงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ (Business Income) เช่น เงินได้จากธุรกิจ และจากบริบทการประกอบธุรกิจ เงินได้อื่นๆ นอกเหนือจาก 2 ประเภทแรก โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายตามจริง
และเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ตามประเภทของประเภทเงินได้ จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท และเสนอให้มีการปรับลดเพดานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงให้อยู่ในระดับ 25% จากเดิมสูงสุด 35% เพื่อให้ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล และขยายช่วงเงินได้สำหรับแต่ละอัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เสนอให้ปรับลดอัตราภาษีและภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากที่ปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกประมาณ 10% ทำให้มีภาระภาษีรวมประมาณ 28% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนสินค้าในกลุ่มบริษัทเดียวกันเพื่อบริหารให้เสียภาษีน้อยลง
นอกจากนี้เสนอให้กำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ในการตีความ
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษี VAT)
จากปัจจุบันนิติบุคคลต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีการเสนอให้ปรับเพิ่มเป็นมีรายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน
และเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น และคงเหลือยกเว้นเฉพาะประเภทที่มีเหตุจำเป็นสมควร
5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
6. ภาษีอากรแสตมป์
เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น และมีจำนวนน้อยและยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้ จึงอาจจะยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ตามแผนงานในปี 2562 จะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน โดยจะเร่งรัดและผลักดันร่างประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สอดรับกับแผนปฏิรูปประเทศ