3 อันดับธนาคาร ผลประกอบการดี กำไรสูง (ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2561)
มาแล้วๆ ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรก ประจำปี 2561 เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า 3 อันดับแรกที่โดดเด่น กำไรสู๊ง ... สูง! จะเป็นธนาคารใดกันบ้าง และจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ของผู้ลงทุน และผู้ใช้บริการ หรือเปล่า
อันดับ 1 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 จำนวน 11,364 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อน จากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 13.4% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3.4%
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดในการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าบนระบบดิจิทัล (Digital acquisition) และการลงทุนทางด้านดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทำให้ กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2561 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) มีจำนวน 11,364 ล้านบาท ลดลง 4.6% จากไตรมาส 1/2560
อัตราส่วน NPL ในไตรมาส 1/2561 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.77% จาก 2.83% ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,012 ล้านบาท หรือ 0.98% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นเป็น 141.9% ณ สิ้นไตรมาส 1/2561 จาก 137.3% ณ สิ้นปี 2560
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ธนาคารให้ความสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มด้วยบริการทางการเงินซึ่งอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทันสมัย ซึ่งมีทั้งความรวดเร็วและปลอดภัย ส่วนในการดำเนินธุรกิจนั้น ถึงแม้การแข่งขันจะสูงขึ้นทั้งจากธนาคารพาณิชย์และที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารก็ได้ปรับตัวสู้ด้วยยุทธศาสตร์ตีลังกา (Going upside down) เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็วต่อการตอบสนองของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าทุกรูปแบบ ซึ่งในระยะยาวธนาคารเชื่อว่า "ธนาคารบนมือถือ" จะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจให้ธนาคารต่อไป"
อันดับ 2 คือ ธนาคารกสิกรไทย ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 จำนวน 10,766 ล้านบาท
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมี กำไรสุทธิจำนวน 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.84%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 595 ล้านบาท หรือ 5.84% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 608 ล้านบาท หรือ 2.63% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้กู้ยืมตามธุรกรรมซื้อคืน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.37%
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 405 ล้านบาท หรือ 2.61% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 4.71% หลักๆ เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 765 ล้านบาท หรือ 5.03% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.20% รวมถึงในไตรมาสนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้ จำนวน 22,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,982 ล้านบาท หรือ 15.03% จากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลง จำนวน 2,970 ล้านบาท หรือ 15.66% ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล โดยส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 336 ล้านบาท หรือ 2.28% ส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้เงินปันผล นอกจากนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง จำนวน 3,827 ล้านบาท หรือ 32.87% ทำให้กำไรสุทธิมีจำนวน 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 5,059 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,994,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 93,644 ล้านบาท หรือ 3.23% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อสำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 3.30% เท่ากับสิ้นปี 2560 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 149.72% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 17.70% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.41%
อันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ ประกาศผลกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 จำนวน 9,005 ล้านบาท
เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่มีแผนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากพัฒนาการดังกล่าว สอดคล้องกับแนวโน้มสำคัญ 3 ประการที่ธนาคารตระหนัก และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่
- การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
- การขยายตัวของเมือง และ
- การเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ด้วยปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคารในความเป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" ธนาคารจึงพร้อมเคียงข้างลูกค้าทุกการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน
สำหรับไตรมาส 1 ปี 2561 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 17,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.34 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 14,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 12,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 39.9 ส่งผลให้ กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารมีจำนวน 9,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากไตรมาส 1 ปีก่อน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,978,511 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 จากสิ้นปี 2560 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 146,807 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนและกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น ตามหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวัง
ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2561 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2561 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.7 ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีจำนวน 405,462 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 212.41 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.96 บาท จากสิ้นปี 2560
*เปิดไตรมาสแรกไปอย่างสวยงามนะคะกับ 3 อันดับธนาคารผลประกอบการสูงในปี 2561 ที่ถึงแม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะมีกำไรลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปี 2560 โดยมีกำไร 11,364 ล้านบาท ลดลง 4.60% แต่ก็ยังคงตรึงอันดับ 1 ของธนาคารผลประกอบการดีไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนธนาคารกสิกรไทย มีกำไร 10,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.84% และธนาคารกรุงเทพ มีกำไร 9,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2560
เชื่อว่าคงเป็นไปตามที่ใครหลายๆ คนคาดการณ์ไว้นะคะ สำหรับผู้ใช้บริการอย่างเราๆ ท่านๆ ก็หวังว่าจากผลประกอบการที่สูงขึ้นของแต่ละธนาคารจะส่งผลมาถึงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเชื่อแน่ว่าแต่ละธนาคารก็กำลังพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับสังคมยุค 4.0 กันอย่างทั่วหน้า และหากใครสนใจรายละเอียดในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม ลองหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารที่คุณๆ สนใจได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ