การยกเลิกบัตรเครดิตมีผลดี - ผลเสียอย่างไร... ธนาคารสามารถยกเลิกบัตรฯ เราในกรณีใดได้บ้าง?
ใครที่กำลังถือบัตรเครดิตหลายๆ ใบอยู่ตอนนี้.. เคยลองคิดเล่นๆ มั้ยว่า "อยากยกเลิกบัตรเครดิต" เพราะบางทีเราอาจจะได้มาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะว่าไปแล้วการที่เรามีบัตรหลายใบแต่ไม่ได้ใช้ ถือว่าค่อนข้างเกินความจำเป็นอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ ดังนั้น วันนี้เราจึงหยิบประเด็นสำคัญที่เป็นข้อสงสัยของใครหลายคนมา 2 เรื่อง นั่นก็คือ ถ้าอยากจะยกเลิก หรือปิดบัตรเครดิตใบที่ไม่ค่อยได้ใช้หรือไม่จำเป็นนั้นจะมีผลดี - ผลเสียอย่างไร.. แล้วธนาคารจะสามารถยกเลิกบัตรฯ ของเราในกรณีใดได้บ้าง?
เหตุผลที่อยากยกเลิก หรือปิดบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง?
มาดูเหตุผลที่ผู้ถือบัตรเครดิตต้องการยกเลิกบัตรกันก่อนค่ะ โดยจะแบ่งเป็นข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- สมัครไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน หรือต้องการเพียงของกำนัล ที่แต่ละสถาบันการเงินจัดโปรโมชั่นสำหรับผู้สมัครบัตรเครดิตรายใหม่ จนทำให้มีบัตรฯ มากเกินความจำเป็น ซึ่งบางคนก็ไม่ได้ใช้บัตรเลย แต่บางคนก็ใช้แทบทุกบัตรจนทำให้มียอดหนี้บัตรเครดิตเยอะ และกลัวว่าจะชำระหนี้ไม่ไหวในภายหลัง
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตแพงเกินไป บางสถาบันการเงินกำหนดค่าธรรมเนียมรายปีหลักพันถึงหลักหมื่น และบางสถาบันการเงินสามารถยกเว้นได้ แต่บางเจ้ายกเว้นไม่ได้
- ต้องการสมัครบัตรใหม่ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์แทนที่ใบเดิม และให้สิทธิพิเศษที่มากกว่า เช่น คะแนนสะสมพิเศษ หรือของรางวัลที่ดีกว่า
จะยกเลิกบัตรเครดิตต้องทำยังไง มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
หากเพื่อนๆ ลองทำการตรวจสอบบัตรเครดิตในกระเป๋าดูแล้ว พบว่าเรามีบัตรเครดิตมากเกินความจำเป็นจริงๆ แนะนำว่าควรเลือกเก็บไว้เฉพาะบัตรที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุด และใช้ได้ครอบคลุมกับทุกไลฟ์สไตล์ของเรามากที่สุด ส่วนบัตรไหนที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็ยกเลิกบัตรนั้นเสีย เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการใช้บัตรเครดิต โดยการยกเลิกบัตรเครดิตนั้นสามารถทำได้ทั้งโทรแจ้งยกเลิกที่ Call Center หรือหากใครสะดวกไปแจ้งยกเลิกที่สาขาของแต่ละสถาบันการเงินก็สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
ติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัตร เพื่อแจ้งความประสงค์ที่จะยกเลิกหรือปิดบัตรเครดิต
ตรวจสอบการตั้งหักค่าใช้จ่ายอัตโนมัติ (Automatic Direct Debit) ว่ามีการตั้งค่าบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสาธารณูปโภค จำพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ทุกๆ เดือนหรือไม่ หากได้ทำการผูกบัญชีบัตรไว้ ต้องทำการยกเลิกการหักอัตโนมัตินั้น และเปลี่ยนวิธีการชำระเป็นวิธีอื่นก่อนยกเลิก
ตรวจสอบสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต ว่ามีคะแนนสะสมคงเหลือหรือไม่ หากมีคะแนนสะสมเหลือเพียงพอที่จะแลกของรางวัลก็ทำการแลกไปเลย หรือถ้าเป็นบัตรประเภทให้เครดิตเงินคืนก็ทำการรับเงินคืนให้เรียบร้อยเสียก่อน
ต้องทำการเคลียร์ยอดหนี้ที่เหลือ และดอกเบี้ยคงค้างในบัตรเครดิตใบนั้นให้เหลือเป็น 0 บาท โดยต้องจ่ายยอดเงินทั้งหมด ณ วันที่เราทำการยกเลิก หรืออาจทำการโอนหนี้ที่เหลือไปยังบัตรใบอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่กรณีนี้ต้องทำการสอบถามและแจ้งสถาบันการเงินที่เราต้องการโอนหนี้ไปก่อนทำรายการ
กรอกเอกสารยกเลิกบัตรเครดิต ในกรณีที่เราไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ของสถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกเอกสารเพื่อแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกบัตร และทำการแฟ็กซ์เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังสำนักงานใหญ่ฝ่ายบัตรเครดิตอีกต่อหนึ่งเพื่อขออนุมัติยกเลิกบัตร
ทำลายบัตรเครดิตทิ้งเสีย อาจใช้กรรไกรตัดบัตรออกเป็น 2 ส่วน โดยต้องทำลายส่วนสำคัญๆ คือ แถบแม่เหล็กและ Chip card เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรมข้อมูล
ผลดีของการยกเลิกหรือปิดบัตรเครดิตมีอะไรบ้าง
การยกเลิกบัตรเครดิตที่ถูกต้องตามขั้นตอนของธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ นั้น หมายถึงการเคลียร์หนี้ทั้งหมดและปิดบัตรเครดิตลง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เราลองมาดูยกเลิกบัตรแล้วจะเป็นยังไงบ้าง?
ผลดี - ไม่ต้องแบกภาระหนี้บัตรเครดิต เมื่อทำการเคลียร์หนี้บัตรเครดิตหมดแล้ว ภาระต่างๆ ก็จะหมดไป ทำให้เหลือพื้นที่ในกระเป๋าเงินมากขึ้นค่ะ
- ไม่ต้องแบกภาระค่าธรรมเนียมรายปี นอกจากต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตแล้ว ภาระหนักที่บางครั้งไม่สามารถยกเว้นได้ก็คือ ค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเครดิต บัตรไหนที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงๆ โดยยกเว้นไม่ได้ก็ยกเลิกไปดีกว่า
- ประวัติทางการเงินดีขึ้น เพราะเมื่อยอดหนี้ของเราลดลง จะส่งผลให้สัดส่วนของการใช้บัตรเครดิตต่อวงเงินรวมในเครดิตบูโรดีขึ้น ประวัติทางการเงินของเราก็จะแจ่มขึ้นด้วย
ผลเสีย ธนาคารสามารถยกเลิกบัตรเครดิตของเราได้ในกรณีใดบ้าง?
โดยทั่วไปธนาคารไม่สามารถยกเลิกบัตรเครดิตของเราได้โดยพลการนะคะ แต่จะยกเว้นอยู่ 4 กรณี ดังนี้
- ไม่มีการเปิดใช้งานหรือ Activate บัตรเกิน 1 ปี
หากสมัครบัตรเครดิตแล้ว แต่ไม่มีการเปิดใช้งานบัตรเลยเป็นเวลา 1 ปี ธนาคารจะทำการยกเลิกบัตรใบนั้นโดยอัตโนมัติ
- เปิดใช้งานหรือ Activate บัตรแล้ว แต่ไม่เคยใช้เลยเกิน 2 - 3 ปี
หรือหากทำการเปิดใช้งานบัตรเครดิตแล้ว แต่ไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรหรือเคลื่อนไหวบัญชีบัตรเลยเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 - 3 ปีขึ้นไป ก็อาจถูกยกเลิกบัตรได้เช่นกันค่ะ โดยหากช่วงเวลานั้นๆ มีโปรโมชั่นที่เกี่ยวกับบัตร ธนาคารจะทำการแจ้งเตือนไปยังผู้ถือบัตร แต่หากไม่มีโปรโมชั่นใดๆ ณ ช่วงเวลานั้น ก็จะไม่มีการแจ้งเตือนจากธนาคาร และจะยกเลิกบัตรเครดิตอัตโนมัติ
- ค้างชำระหนี้บัตรเครดิตหลายๆ งวดติดต่อกัน
ใครที่มีการค้างชำระหนี้บัตรเครดิตเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายๆ งวด ตั้งแต่ 3 - 4 งวดขึ้นไป โดยการค้างชำระอาจเกิดได้ 2 กรณีคือ
- การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ได้เกิดจากผู้ถือบัตร แต่อาจมีคนขโมยบัตรไปใช้ หากมีการตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ธนาคารจะทำการแจ้งเตือนไปยังผู้ถือบัตร และทำการระงับหรืออายัดบัตรไว้ชั่วคราว จนกว่าเรื่องจะคลี่คลายค่ะ
- หากการค้างชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้งานบัตรเครดิตของตัวผู้ถือบัตรเอง แต่ไม่จ่ายหนี้ ธนาคารจะทำการ "ทวงหนี้" ด้วยการส่งจดหมายหรือ SMS แจ้งเพื่อติดตามทวงถามหนี้ จนกว่าผู้ถือบัตรจะยอมจ่าย แต่ถ้าหากผู้ถือบัตรไม่ยอมจ่ายหนี้ ก็จะเป็นคดีความกันต่อไป และธนาคารจะทำการยกเลิกบัตรเครดิตในเวลาต่อมา
- ผู้ถือบัตรเครดิตเสียชีวิต
ถ้าหากผู้ถือบัตรเสียชีวิต ทายาทจะต้องเป็นผู้แจ้งเรื่องไปยังสถาบันการเงินเจ้าของบัตร และสถาบันการเงินอาจขอเอกสารเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ถือบัตรได้เสียชีวิตลง เช่น เอกสารใบมรณะบัตร หรืออื่นๆ เป็นต้น และธนาคารจะทำการระงับบัตรไว้ชั่วคราวจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ถือบัตรได้เสียชีวิตลงจริง จึงจะทำการยกเลิกบัตรเครดิตใบนั้น
อย่างไรก็ตาม บางสถาบันการเงินอาจมีเหตุผลหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปในการยกเลิกบัตรเครดิต เพราะฉะนั้นเราควรศึกษารายละเอียด ทำความเข้าใจถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขของการเป็นผู้ถือบัตรเครดิตของแต่ละสถาบันการเงิน พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้เครดิตแจ่มๆ และประวัติทางการเงินที่สวยหรูก็อยู่ไม่ไกลแล้วค่ะ