"ไอคอนนิค แลนด์มาร์ค" แนวคิดใหม่กับสาขาสะท้อนเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของธนาคารกสิกรไทย
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องก็เปลี่ยนไปให้สอดคล้องกลมกลืน ตึกเก่า อาคารเก่าอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งล้าหลัง ไร้ค่า แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมองเห็นคุณค่าของสิ่งเก่าๆ เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ธนาคารกสิกรไทย จึงพัฒนาสาขา "ไอคอนนิค แลนด์มาร์ค" (Iconic Landmark) สาขาเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการออกแบบรูปแบบสาขาให้สะท้อนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้คนในชุมชนรู้สึกว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสามารถดึงคนในชุมชนเข้าใกล้ธนาคารมากขึ้น สาขา "ไอคอนนิค แลนด์มาร์ค" (Iconic Landmark) สาขาเอกลักษณ์เชิงวัฒนธรรม 4 แห่ง ของธนาคารกสิกรไทย ประกอบด้วย
1. สาขาปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
"Smile Pai By Kbank" เปิดให้บริการเมื่อปี 2552 เป็นสาขาแรกที่ฉีกรูปแบบอย่างไม่เคยมีมาก่อนของธนาคารกสิกรไทยสาขาอื่น ตัวอาคารตกแต่งโดยใช้วัสดุที่ทำจากไม้ โดยเฉพาะเสาต้นใหญ่ 2 ต้นที่อยู่หน้าธนาคารเป็นรูปแกะสลักช้าง ต้นละ 59 เชือก ส่วนเครื่องแบบของพนักงานจะเป็นชุดพื้นเมือง
2. สาขาเชียงคาน จังหวัดเลย
"ฮักเชียงคานหลาย by KBank" เปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2557 ตกแต่งให้สอดคล้องกับเชียงคานซึ่งยังเป็นชุมชนที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยาวนานกว่า 100 ปี ลักษณะการออกแบบจะอยู่ใน Theme บ้านเมืองที่ยังคงอนุรักษ์เสน่ห์และเอกลักษณ์ของชุมชนมีความสงบเรียบง่าย
3. สาขาปัว จังหวัดน่าน
"แอ่วปัว ม่วนใจ๋ by KBank" เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ตกแต่งด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เสาแกะสลักแต่ละต้นมีลวดลายสลักไม่เหมือนกัน ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูป "ปู่ม่าน ย่าม่าน" ซึ่งเป็นภาพคู่บ้านคู่เมืองน่าน มีที่นั่งสำหรับพักผ่อน ชมวิว ตกแต่งด้วยรูปภาพวิถีชีวิตของชาวน่านและมีการจัดแสดงเครื่องเงินและผ้าทอซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวอำเภอปัว บริเวณดาดฟ้ามีศาลาให้นั่งพักผ่อน ชมวิวแบบพาโนรามา 360 องศา มองเห็นดอยภูคาพร้อมทั้งมีโปสการ์ดฟรีให้บริการอีกด้วย
4. สาขาภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ "ชิโน-โปรตุกิส" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองภูเก็ตมาอย่างยาวนาน ลักษณะอาคารของสาขาเป็นแบบ "อั้งม้อหลาว" ซึ่งในภาษาจีนฮกเกี้ยนหมายถึง คฤหาสน์แบบฝรั่งที่นายหัวเหมืองแร่ของภูเก็ตสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในอดีต
ในปัจจุบัน กระแสถวิลหาวิถีชีวิตยุคเก่าๆ ของคนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ไอเดียการฟื้นฟูเอกลักษณ์โดยนำเอาวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาใช้นั้น ถือได้ว่าเป็นการช่วยอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒธรรมเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์เพื่อการท่องเที่ยวในทางอ้อมได้เช่นกัน