กลเม็ดการเลือกใช้บัตรเครดิตอย่างปลอดภัย
การพิจารณาเลือกบัตรเครดิต
ก่อนเลือกบัตรเครดิต แง่มุมต่างๆ เหล่านี้อาจช่วยให้ท่านเลือกบัตรได้อย่างโดนใจ และตรงตามวัตถุประสงค์ของท่านได้
1. จ่ายครบตลอด - ถ้าท่านเป็นคนใช้บัตรเครดิตแล้วชำระเงินคืนเต็มจำนวนที่ใช้ไปทุกเดือน ควรให้ความสำคัญกับ "ค่าธรรมเนียมรายปี" และ "ส่วนลด / สิทธิประโยชน์" ที่บัตรนั้นนำเสนอมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บัตรนั้นคิด
2. จ่ายครบบ้างไม่ครบบ้าง - ถ้าท่านเป็นคนใช้บัตรเครดิตแบบชอบผ่อนชำระหนี้มากกว่าจ่ายคืนเต็มจำนวน หรือเป็นลูกหนี้ประเภทหมุนเงินไปมาตามบัตรต่างๆ ที่มีอยู่หลายใบ ควรมองหาบัตรเครดิตที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด มีระยะเวลาการชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ยที่นานที่สุด และค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการที่จะโดน Charge ต่ำที่สุด โดยท่านสามารถตรวจสอบต้นทุนตัวเลขเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตทุกราย
3. ชอบบริหารเงิน - หากท่านเป็นคนประเภทที่ชอบวางแผนล่วงหน้า หรือใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยต่ำ หรือมีโปรแกรมซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ อาจเป็นทางเลือกที่ดี
4. ชอบกินเที่ยว - หากท่านเป็นคนที่มีกิจกรรม ไลฟ์สไตล์ หรือทำกิจกรรมใดๆ ในที่เดิมบ่อยๆ เช่น ชอบท่องเที่ยว ชอบตระเวนหาของกิน หรือชอบซื้อของช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเดิมเป็นประจำ ท่านอาจเลือกบัตรเครดิตที่ให้ส่วนลด สิทธิประโยชน์ หรือแต้มสะสมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม หรือร้านค้าดังกล่าว เช่น บัตรเครดิตที่สะสมแต้มแล้วแลกเป็นตั๋วเครื่องบินฟรีได้ หรือบัตรเครดิตที่เป็นพันธมิตรกับห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
5. บัตรระดับสูง - บัตรเครดิตระดับสูงถึงระดับ Exclusive ธนาคารผู้ออกบัตรมักจะตั้งมาตรฐานรายได้ และระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ถือบัตรประเภทนี้ไว้สูงกว่าผู้ถือบัตรเครดิตทั่วไป และมักจะให้วงเงินที่สูง และสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ค่อนข้างมาก แต่ท่านก็ควรนำมาเปรียบเทียบกับเงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมรายปีที่อาจต้องเสียด้วย เพราะบัตรประเภทนี้ ค่าธรรมเนียมจะค่อนข้างสูง
6. ใช้ที่ไหนจ่ายอย่างไร - ในการพิจารณาเลือกบัตรควรพิจารณาถึงจำนวนร้านค้าที่รับบัตร (ตอนใช้บัตร) และความสะดวกในการชำระเงินด้วย (ตอนจ่ายเงินคืน) เช่น ร้านค้าบางรายอาจไม่รับบัตรเครดิตที่อยู่ภายในเครือข่ายของ JCB หรือบางบัตรเครดิตโดนคิดค่าธรรมเนียมการชำระคืนตามช่องทางต่างๆ แพงกว่าบัตรอื่น หรือมีช่องทางชำระคืนค่อนข้างน้อยกว่าบัตรอื่น เป็นต้น
การใช้บัตรอย่างระวังและปลอดภัย
เมื่อได้บัตรเครดิตมาแล้ว เราลองมาดูกันว่า เราควรใช้บัตรอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเรา และปลอดภัยที่สุดตามแนวทางดังต่อไปนี้
1. ใช้จ่ายอย่างระวัง - ใช้บัตรเครดิตกับสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติเพราะเหตุผลเพียงว่ามีบัตรเครดิตแล้วใช้จ่ายอะไรก็ได้ ในชีวิตจริงเราควรแยกแยะระหว่างสิ่งที่ "ต้องมี" และ "อยากมี" และเราไม่ควรใช้บัตรเครดิตให้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความอยากมี หรือเป็นเครื่องมือทำให้เรากลายเป็นคน Shopaholic
2. ไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ - หลังจากใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าแล้ว ควรชำระหนี้ที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ และตรงตามกำหนดเวลาชำระ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดอกเบี้ยและค่าปรับจากการชำระหนี้ล่าช้า โปรดระลึกเสมอว่า วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของบัตรเครดิตคือ เป็นเครื่องมือให้เราเอาไว้ใช้ซื้อสินค้าและบริการโดยใช้เครดิตและยังไม่ต้องจ่ายเงินสดทันที ไม่ใช่เครื่องมือในการหาเงินกู้ หรือสร้างภาระหนี้
3.ระวังเวลารูดบัตร - เราควรให้บัตรเครดิตอยู่ในสายตาตลอดเวลาในขณะที่พนักงานกำลังดำเนินการขออนุมัติวงเงินเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการนำบัตรเครดิตไปรูดกับเครื่องอย่างอื่น หรือรูดบัตรทำรายการซ้ำหลายครั้ง โดยเฉพาะในบางร้านค้าที่เดินเข้าไปรูดบัตรเราหลังร้านโดยที่เราไม่เห็น
4. Sales Slip- ควรตรวจสอบ Sales Slip ทุกครั้งว่าจำนวนเงินถูกต้องหรือไม่ก่อนเซ็นชื่อ และเก็บสำเนา Sales Slip ไว้ทุกครั้ง การเก็บ Sales Slip ไว้ จะมีประโยชน์หลักๆ 2 เรื่องคือ (ก) เป็นหลักฐานในการตรวจสอบว่าตรงกับใบแจ้งหนี้หรือไม่ และ (ข) เป็นข้อมูลสำหรับตัวเราเองว่าได้ใช้จ่ายไปแล้วเท่าไหร่ในหนึ่งเดือน และต้องเตรียมเงินสดเท่าไหร่เพื่อชำระในเดือนถัดไป
5. รอบบัญชี - ควรจดจำรอบบัญชีบัตรเครดิตแต่ละใบให้แม่นเพราะผู้ถือบัตรจะได้ประโยชน์เรื่องระยะเวลาการจ่ายคืนสูงสุดถึง 15-55 วันขึ้นอยู่กับวันที่ใช้ ควรเลือกใช้บัตรให้ได้ระยะเวลาปลอดหนี้มากที่สุด เพราะถ้าผู้ถือบัตรใช้ช่วงต้นรอบบัญชีก็จะได้เครดิตนาน ถ้าใช้จ่ายช่วงปลายรอบบัญชีก็จะต้องจ่ายในรอบเวลาที่สั้นลง และควรจดจำวันถึงกำหนดชำระของบัตรเครดิตที่เราถืออยู่ให้ได้ เพื่อไม่ให้เราต้องเสียดอกเบี้ย หรือค่าปรับโดยไม่จำเป็น
6.ใส่ใจกับใบแจ้งหนี้ - เวลาเราได้ใบแจ้งหนี้ (Credit Card Statement) เราควรตรวจสอบเรื่องดังต่อไปนี้ (ก) ตรวจสอบว่าจำนวนเงินที่เราจ่ายไปในงวดที่แล้วถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ (ข) หากเราต้องเสียดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ตรวจสอบดูว่าตัวเลขและการคำนวณถูกต้องหรือไม่ เช่น วันเริ่มคิดดอกเบี้ยถูกต้องหรือไม่ และ (ค) ตรวจสอบความถูกต้องของสิทธิประโยชน์ที่ได้ เช่น คะแนนสะสมที่ได้ครบตามที่ควรได้หรือไม่ หรือเราได้รับเครดิตเงินสดครบถ้วนหรือไม่
7. ค่า Charge - หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตกับร้านค้าเล็กๆ บางร้าน เพราะเราอาจจะโดน Charge ประมาณ 1.75 - 3.75% ได้ เช่น ร้านทอง ร้านขายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่จะให้พนักงานร้านขายของเหล่านี้นำบัตรเครดิตไปรูดควรถามก่อนว่า ถ้าจ่ายบัตรเครดิต และจ่ายเป็นเงินสดจะต่างกันหรือไม่ และโดน Charge อะไรหรือไม่
8. บัตรหาย - เมื่อบัตรเครดิตสูญหายคุณต้องรีบโทรไปแจ้งระงับการใช้บัตรทันที เพราะหากมีคนเก็บบัตรได้ก็อาจนำไปใช้ในทางทุจริต เช่น ปลอมลายเซ็นใน Sales Slip หรือนำบัตรไปใช้จ่าย
9. การใช้บัตรในต่างประเทศ - ตามคำแนะนำของสมาคมธนาคารไทยสำหรับการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศคือ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตกับร้านค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกในประเทศเกาหลีและไต้หวัน ร้านค้าที่เปิดกิจการเฉพาะในตอนกลางคืน ร้านขายจิวเวลรี่เพชรพลอยที่เน้นขายเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ ธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตมักมีการคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศในอัตราประมาณ 2% - 2.5% ของยอดที่ใช้จ่ายเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และถ้ายอดค่าใช้จ่ายไม่ใช่ US Dollars ก็อาจต้องมีการแปลงสกุลเงินสองครั้งก่อนจากเงินสกุลที่ใช้จ่ายไปนั้นเป็น US Dollars แล้วจาก US Dollars ถึงแปลงเป็นเงินบาทอีกทีเพื่อเรียกเก็บกับท่านเป็นเงินบาท
10. ข้อร้องเรียน - หากท่านมีปัญหา หรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบัตรเครดิต กฎแบงค์ชาติกำหนดว่า ถ้าผู้ประกอบการบัตรเครดิตได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง และแจ้งความคืบหน้าผลการตรวจสอบ รวมทั้งชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการต่อไปให้ผู้ถือบัตรทราบภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้รับข้อร้องเรียน รวมทั้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนนั้นให้แล้วเสร็จ และแจ้งผู้ถือบัตรทราบโดยเร็ว
ผู้ถือบัตรต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบใช้บัตรหลังจากที่บัตรถูกขโมยไปด้วยหรือไม่?
โดยหลักการแล้ว เราไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้ในส่วนของการทำรายการใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราได้แจ้งระงับการใช้บัตรกับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรว่าบัตรของเราถูกขโมยหรือทำหายแล้ว อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องรับผิดชอบหนี้ในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะแจ้งระงับการใช้บัตรกับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรนั้น
ขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อได้อย่างไร?
ในทางปฏิบัติ สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตส่วนใหญ่อนุญาตให้เราขออนุมัติเพิ่มวงเงินชั่วคราวได้ทางโทรศัพท์ หรืออาจทำเรื่องขอเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ ส่วนประเด็นว่าสถาบันการเงินนั้นจะอนุมัติให้หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงินโดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรเป็นหลัก
จะทำอย่างไรหากพบว่ารายการใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตคลาดเคลื่อน?
หากคุณพบข้อผิดพลาดในใบแจ้งยอดบัญชีการใช้บัตรเครดิต ให้ติดต่อสถาบันการเงินผู้ออกบัตรของคุณทันทีเพื่อสอบถามและชี้แจงยอดเงินที่คุณคิดว่าคลาดเคลื่อนเพื่อให้สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตดำเนินการตรวจสอบรายการที่มีปัญหาต่อไป
จะเกิดอะไรขึ้นหากใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าที่มีมูลค่าเกินวงเงินของบัตร ผู้ถือบัตรจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มหรือไม่?
โดยปกติแล้วหากเราจะใช้จ่ายเกินวงเงินที่กำหนดไว้ รายการใช้จ่ายของเราจะไม่ได้รับการอนุมัติ โดยเราจะได้รับแจ้งจากพนักงานที่นำบัตรคุณไปรูดว่ารายการไม่อนุมัติ หากเราจำเป็นต้องใช้เงินเกินวงเงินที่ระบุไว้ เราควรติดต่อสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเพื่อขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว ซึ่งมักนิยมทำกรณีที่เราเดินทางต่างประเทศ โดยเราจะสามารถขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวได้ หากเรามีประวัติชำระคืนตรงเวลา และหากเราได้รับอนุมัติให้เพิ่มวงเงินแล้ว เราก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม