ข้อควรรู้ในการใช้บัตรเครดิต
บัตรเครดิตเป็นบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ เช่น SCB และ Citibank หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (ที่เราเรียกกันว่า Non-Bank) เช่น KTC และ AEON ออกให้แก่ลูกค้าผู้ถือบัตร โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
- ใช้ชำระค่าสินค้า หรือบริการโดยใช้เครดิตแทนเงินสดภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากผู้ออกบัตร หลังจากนั้นผู้ถือบัตรค่อยผ่อนชำระเงินสดคืนให้แก่ผู้ออกบัตรในภายหลังต่อไป
- ในกรณีต้องการใช้เงินสดฉุกเฉิน ใช้เบิกถอนเงินสดฉุกเฉินล่วงหน้า (Cash Advance) จากเครื่อง ATM หรือ Counter ธนาคารมาใช้ล่วงหน้าได้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมการเบิกใช้เงินสด และดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออกบัตรเครดิต
ประเภทของบัตรเครดิต
ทุกวันนี้ บัตรเครดิตมีหลายประเภท และหลายระดับ สมัยก่อนบัตรเครดิตมีอยู่ไม่กี่ประเภท เช่น บัตรเงิน บัตรทอง แต่เดี๋ยวนี้มีความหลากหลายเรียกชื่อกันสารพัด แต่โดยหลักๆ แล้วพอจะแยกแยะได้โดยสรุป ดังนี้
แยกตามระดับ
บัตรพื้นฐาน (หรือที่มักเรียกกันต่อท้ายว่า "คลาสสิค") | เป็นบัตรพื้นฐานที่ผู้เริ่มใช้บัตรเครดิตสมัครแล้วจะได้รับเป็นบัตรนี้ เพราะฐานเงินเดือนที่ใช้ในการสมัครน้อยในที่สุดในบรรดาบัตรเครดิตทั้งหมด |
บัตรระดับกลาง (หรือที่มักเรียกกันต่อท้ายว่า "โกลด์") | เป็นบัตรเครดิตที่ผู้สมัครมีฐานรายได้สูงกว่าบัตรพื้นฐาน และมีสิทธิพิเศษตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดซึ่งอาจจะมากกว่าบัตรพื้นฐาน ซึ่งจะแยกย่อยตามวัตถุประสงค์ได้อีกหลายประเภท เช่น บัตรเฉพาะสำหรับผู้หญิง |
บัตรระดับสูง (บางแบรนด์ก็เรียกกันต่อท้ายประมาณเช่นว่า "แพลทตินั่ม" หรือ "ไทเทเนี่ยม" และอื่นๆ) | เป็นบัตรเครดิตที่ให้สิทธิพิเศษ และผลประโยชน์กับผู้ถือบัตรเครดิตสูงกว่าบัตรพื้นฐาน และบัตรระดับกลาง เช่น มีการคุ้มครองประกันภัยให้ด้วย แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าด้วยเช่นกัน |
บัตรระดับ Exclusive (บางแบรนด์ก็เรียกกันต่อท้ายประมาณว่า "บียอนด์" หรือ "วิสดอม" และอื่นๆ) | เป็นบัตรเครดิตที่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ หรือสินทรัพย์ของผู้ถือบัตรสูงที่สุด และให้สิทธิพิเศษ และผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิตมากที่สุด และหลากหลายประเภทกว่าบัตรระดับอื่นทั้งหมด เช่น แม้จะมีการคุ้มครองประกันภัยเหมือนบัตรระดับสูงแต่วงเงินคุ้มครองอาจสูงกว่า หรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่บัตรอื่นไม่ได้ เช่น ใช้ Executive Lounge ที่สนามบินได้ แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงที่สุดด้วยเช่นกัน |
แยกตามประเภท
บัตรเครดิตเพื่อธุรกิจ (Business Card / Corporate Card) | เป็นบัตรเครดิตที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตออกให้ตามความประสงค์ และคำขอของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือบริษัท โดยที่หน่วยงาน หรือบริษัทที่ขอบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต เช่น บริษัทอาจขอทำบัตรเครดิตให้กรรมการบริษัทถือไว้เพื่อใช้ในการเลี้ยงรับรองลูกค้า |
บัตรเครดิตร่วม (Co-Branded) ที่ธนาคารออกร่วมกับบริษัท หรือร้านค้า | เป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารร่วมกับบริษัท หรือร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกัน เพื่อให้ผู้ถือบัตรเครดิตได้รับส่วนลด หรือสิทธิพิเศษจากการใช้บัตรที่บริษัท หรือร้านค้านั้นๆ เช่น บัตรเครดิตร่วมแอมเวย์-กสิกรไทย |
นอกจากการแยกตามระดับ หรือประเภทของบัตรเครดิตข้างต้นแล้ว ปัจจุบันนี้ แต่ละบัตรเครดิตก็มีการสร้างลักษณะเด่น หรือวัตถุประสงค์เฉพาะกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้การใช้บัตรเครดิตแต่ละประเภทตอบโจทย์ตรงใจผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น บัตรเครดิตที่เน้นการสะสมแต้มการบินเพื่อท่องเที่ยว บัตรเครดิตที่เน้นส่วนลดพิเศษกับห้างสรรพสินค้า บัตรเครดิตที่เน้นการได้ส่วนลดตามร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์
www.checkraka.com ของเราก็ได้มีการจัดสรรลักษณะเด่น หรือวัตถุประสงค์การใช้บัตรให้ท่านลอง Search หาบัตรเครดิตที่ตรงใจคุณได้ง่ายๆ ใน Smart Search อยู่แล้ว
เรื่องพื้นฐานที่ควรรู้ก่อนใช้บัตรเครดิต
ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ดังนั้น เราในฐานะผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองจากทางราชการในระดับหนึ่ง แต่ในการใช้บัตรเครดิตนั้น หากใช้ในทางที่ดี ก็จะมีประโยชน์มากมาย แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจเกิดผลไม่ดีตามมาได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจกับเรื่องพื้นฐานบางเรื่องก่อนจะสมัครบัตรเครดิตกัน
1. ต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำตามที่กำหนด - คนที่จะทำบัตรเครดิตได้จะต้องมีรายได้ประจำรวมกันไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือหากไม่มีรายได้ประจำ (เช่น ทำธุรกิจส่วนตัว) ก็ต้องมีเงินฝากระดับหนึ่ง เช่น มีเงินฝากประจำกับธนาคารไม่น้อยกว่า 500,000 บาทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีทั้งรายได้ หรือเงินฝากแต่ยังอยากมีบัตรเครดิต ก็สามารถขอสมัครเป็น "บัตรเสริม" ภายใต้ "บัตรหลัก" ได้ โดยคนที่ถือบัตรหลักต้องระลึกว่า ตนจะต้องรับผิดชอบชำระหนี้ของคนที่ถือบัตรเสริมทั้งหมด
2. วงเงินที่จะได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ - หากเราขอบัตรเครดิต วงเงินสูงสุดที่เราจะได้รับอนุมัติสำหรับการซื้อสินค้า และบริการจะไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือไม่เกิน 10% ของยอดเงินฝากเสมอตามกฎแบงค์ชาติ
3. ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี - บัตรเครดิตแต่ละธนาคารจะคิดแตกต่างกัน โดยการเรียกเก็บจะขึ้นอยู่กับประเภทของบัตรเครดิต ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ
800 - 1,000 บาท สำหรับบัตรพื้นฐาน
1,500 - 2,000 บาท สำหรับบัตรระดับกลางกึ่งสูง
4,000 - 8,000 บาท สำหรับบัตรระดับสูง
ซึ่งหลายธนาคารจะมีการงดเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในปีแรก หรือในสองสามปีแรก หากผู้ถือบัตรใช้บัตรตามเงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ธนาคารยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบริการอื่นๆ ด้วย เช่นค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด ค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่ ค่าธรรมเนียมในการขอใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต เป็นต้น
4. เครือข่ายบัตรเครดิต - ปกติบัตรเครดิตทุกใบ (ไม่ว่าจะออกโดยธนาคาร หรือ Non-Bank ก็ตาม) จะต้องอยู่ภายใต้เครือข่ายของ "ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิต" ซึ่งผู้ให้บริการรายหลักๆ ของโลกก็มี Visa, Master Card, JCB, Union Pay ซึ่งเราจะใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า และบริการได้ที่ร้านค้าที่รับบัตรเครดิตในเครือข่ายบัตรเครดิตเดียวกันเท่านั้น เช่น ถ้าร้านค้ารับเฉพาะเครือข่าย JCB (ดูได้จากโลโก้ของเครือข่ายบัตรเครดิตที่ติดตามหน้าร้าน) เราก็จะใช้บัตรเครือข่าย Master Card กับร้านนั้นไม่ได้ (เพื่อความสะดวกของท่านในการค้นหาบัตรในเครือข่ายเหล่านี้ โดยเว็บไซต์
www.checkraka.com ได้มีการทำ Smart Search ให้ค้นหาบัตรเครดิตที่ออกภายใต้เครือข่ายแต่ละเครือข่ายได้ด้วย)
5. ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย (Grace Period) - ปกติเราใช้บัตรเครดิตกันก็เพราะเราได้เครดิตไม่ต้องชำระเงินสดทันที คำถามว่าเครดิตนานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ธนาคารผู้ออกบัตรไม่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ผู้ถือบัตรชำระผ่านบัตรเครดิตนั่นเอง ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 45-55 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ออกบัตรแต่ละแห่งจะกำหนด ซึ่งหากไม่ชำระเงินคืนให้ครบภายในวันที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี ยอดเงินดังกล่าวจะถูกคิดดอกเบี้ยโดยจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ทำรายการ (หรือวันที่รูดบัตรนั่นเอง) เป็นต้นไป
6. การเบิกเงินสดล่วงหน้า (Cash Advances) - ถือเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งที่เราสามารถใช้ได้โดยการกดจากตู้ ATM หรือเบิกจากเคาน์เตอร์ธนาคารได้ โดยจะคิดดอกเบี้ยทันทีนับจากวันที่กดเงินสดออกไป (ไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเหมือนการใช้เป็นบัตรเครดิตรูดซื้อของ) ทั้งนี้ ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสำหรับการเบิกเงินสดเหล่านี้ด้วย โดยผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายรายกำหนดให้ผู้ถือบัตรสามารถเบิกเงินสดล่วงหน้าได้สูงสุดถึง 100% ของวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตโดยคิดค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้า 3% ของจำนวนเงินที่เบิก (และบวกด้วย VAT เพิ่มอีก 7% บนจำนวนค่าธรรมเนียม 3% นี้)
7. จำนวนผ่อนชำระขั้นต่ำ - หากถึงเวลากำหนดชำระแต่ละงวดแล้วท่านมีเงินไม่พอ ท่านสามารถชำระขั้นต่ำได้ในงวดนั้น โดยจะต้องชำระไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างงวดนั้น (หรือไม่น้อยกว่า 500 บาทหรือ 1,000 บาทแล้วแต่ผู้ออกบัตรเครดิตจะกำหนด) ซึ่งจะถือว่าท่านยังไม่ผิดนัด แต่จำนวนที่ท่านชำระไม่เต็มก็จะเสียดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ
8. ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม - หากท่านใช้บัตรเครดิตเบิกเงินฉุกเฉินล่วงหน้าจากตู้ ATM หรือท่านใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า แล้วต่อมาจ่ายไม่ครบเต็มตามจำนวนในแต่ละงวด ท่านจะต้องจ่ายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยผิดนัด หรือค่าปรับตามอัตราที่ผู้ออกบัตรเครดิตกำหนด ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างมีรายละเอียดพอสมควร เราเลยแยกหัวข้อเรื่องนี้ออกมาพูดถึงต่างหากในหัวข้อถัดไป "เจาะลึกดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต"
ข้อดี - ข้อเสียของบัตรเครดิต
ข้อดี | ข้อเสีย |
- ใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 45-55 วันนับตั้งแต่วันใช้จ่ายจนถึงวันครบกำหนดชำระจริง
- ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน สามารถใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดจากเครื่อง ATM มาใช้ล่วงหน้าได้ แต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง
- บางบัตรสามารถใช้ผ่อนชำระสินค้า หรือบริการที่จ่ายโดยบัตรเครดิตได้ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ หรืออาจไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลย เช่น ผ่อน 0%
- สามารถเลือกชำระคืนขั้นต่ำได้คือ 10% ของยอดคงค้างในแต่ละงวด (หรือไม่ต่ำกว่า 500 หรือ 1,000 บาท)
- ได้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่ออกบัตรในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ได้รับสิทธิซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ได้รับความคุ้มครองด้านประกันภัยโดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ ได้รับของกำนัลสะสมแต้ม หรือส่วนคืนเป็นเงินสดเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เป็นต้น
| - ถ้าผู้ถือบัตรใช้จ่ายผ่านบัตร อย่างไม่ระมัดระวัง มีการใช้จ่ายเกินตัวมากเกินไปจนไม่สามารถชำระคืน หรือไม่มีวินัยในการชำระคืน จะถูกธนาคารเรียกเก็บเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
- หากใช้ หรือเก็บบัตรเครดิตอย่างไม่ระมัดระวังเพียงพอ อาจเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพ (หรือคนใกล้ตัว) แอบนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้เพื่อการทุจริตได้
|