ออมเดีย ( Omdia) กลุ่มวิจัยและให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีชั้นนำในเครือบริษัทอินฟอร์มา เทค (Informa Tech) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ในหัวข้อ "Top AI Hardware Startups Market Radar" (จับตาตลาดสตาร์ตอัปเอไอชั้นนำ) ซึ่งระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 กองทุนร่วมลงทุน (VC) มากกว่า 100 แห่ง ได้ลงทุนมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสตาร์ตอัปชิปเอไอชั้นนำ 25 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ปี 2564 ถูกมองว่าเป็นปีที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยการขาดแคลนชิปทั่วโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่วิกฤติสินค้าคงคลัง จุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2565 ทำให้การระดมทุนในตอนนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น "สตาร์ตอัปชิปเอไอที่ได้รับการลงทุนสูงที่สุดกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันในการส่งมอบซอฟต์แวร์ประเภทที่นักพัฒนาคุ้นชินอยู่แล้วจากผู้นำตลาดอย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia)"
อเล็กซานเดอร์ ฮาร์โรเวลล์ (Alexander Harrowell) หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านการประมวลผลระดับสูงของออมเดีย กล่าว "นี่เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเทคโนโลยีเอไอใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด" ออมเดียคาดการณ์ว่า สตาร์ตอัปรายใหญ่มากกว่าหนึ่งรายมีแนวโน้มว่าจะออกจากการเป็นสตาร์ตอัปในปีนี้ โดยอาจเป็นไปโดยการขายธุรกิจให้กับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลหรือไม่ก็ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ "ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นการขายธุรกิจให้กับบริษัทรายใหญ่"
"แอปเปิ้ล (Apple) มีเงินสด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในงบดุล และอะเมซอน (Amazon) มี 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อินเทล (Intel) เอ็นวิเดีย และเอเอ็มดี (AMD) มีเงินอยู่ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ บรรดาบริษัทไฮเปอร์สเกลต่างมีความกระตือรือร้นอย่างมากในการปรับใช้ซิลิคอนเอไอแบบกำหนดเอง และพวกเขายังคงรักษาทักษะที่เกี่ยวข้องเอาไว้ได้"
ออมเดียยังพบว่าครึ่งหนึ่งของเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่กองทุนร่วมลงทุนได้ลงทุนในช่วงเวลานี้ ได้รับการจัดสรรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือตัวเร่ง CGRA ขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะถูกออกแบบโดยมีเป้าหมายเพื่อโหลดโมเดลเอไอทั้งหมดบนชิป อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางนี้
เมื่อโมเดลเอไอเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 และ 2562 แนวคิดในการนำโมเดลทั้งหมดลงไปในชิปหน่วยความจำนั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากแนวทางนี้ให้เวลาแฝงต่ำมาก และแก้ปัญหาอินพุตและเอาท์พุตของโมเดลเอไอขนาดใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม โมเดลยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทำให้ขีดความสามารถในการขยายขนาดเป็นปัญหาใหญ่มาก ยิ่งโมเดลที่มีโครงสร้างและระบบภายในที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด หมายความตัวประมวลผลเอไอยิ่งต้องมีความสามารถในการตั้งโปรแกรมตามวัตถุประสงค์ทั่วไปได้มากขึ้นไปด้วย ด้วยเหตุนี้ อนาคตของโปรเซสเซอร์เอไอจึงอาจมีทิศทางที่แตกต่างออกไป