ในปัจจุบันที่พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ กำลังเปลี่ยนไป จากการจับจ่ายใช้สอยด้วยเหรียญเงินหรือธนบัตรที่จับต้องได้ สู่เทคโนโลยีในโลกของการเงินยุคดิจิทัล ด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็ว ความคล่องตัว รวมไปถึงสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้การใช้จ่ายรูปแบบใหม่ ๆ ถือกำเนิดและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่าในยุคนี้คนพกเงินสดติดตัวกันน้อยแล้ว
สำหรับรูปแบบของการจ่ายเงินก็มีหลายหลาย ทั้งการจ่ายด้วยเงินสด เช็ค บัตรเดบิต หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต ยังไม่รวมถึงอีกหลายรูปแบบย่อย ซึ่งอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจของการใช้ง่ายเงินก็คือ "Buy Now, Pay Later" นั่นเองค่ะ ซึ่งหลายคนอาจจะเห็นผ่านตามาบ้างแล้วในชื่อใกล้ ๆ กัน และหลายคนอาจจะเคยมีโอกาสได้ใช้งานกันไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกรรมการเงินดิจิตอลมาแรงที่หลาย ๆ แพลตฟอร์มเริ่มหยิบเอามาใช้งาน เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า!
Buy Now, Pay Later คืออะไร?
"Buy Now, Pay Later" ย่อ ๆ สั้นให้เรียกถนัดปากว่า BNPL เป็นตัวเลือกการชำระเงินบนโลกออนไลน์รูปแบหนึ่งที่มาในลักษณะของการ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" ตามชื่อเรียก ซึ่งความหมายก็ตรงตามตัวเลยค่ะ คือเราสามารถซื้อเอาสินค้ามาใช้ได้ก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินตามทีหลัง พูดได้ว่าเป็นรูปแบบที่คล้ายกับการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของแล้วมาทยอยผ่อนชำระทีหลังนั่นเอง แต่ Buy Now, Pay Later จะมีข้อดีในเรื่องของการยื่นเรื่องดำเนินการเพื่อขอเครดิตไม่ยุ่งยาก สามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้เลย และใช้เวลาในการอนุมัติไม่นาน และไม่เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งต่างจากบัตรเครดิตที่จะใช้ระยะเวลาในการยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัตินานกว่า และส่วนมากยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า ส่วนการจับจ่ายซื้อของก็สามารถแบ่งชำระเป็นงวดได้เลยตามเงื่อนไขของ BNPL แต่ละเจ้า และส่วนใหญ่จะไม่มีอัตราดอกเบี้ย แต่งวดการชำระจะสั้นกว่า ในขณะที่บัตรเครดิตจะยาวกว่า
เรียกได้ว่าทั้ง Buy Now, Pay Later และ บัตรเครดิต นั้น แม้จะมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน หากจะเลือกใช้งานก็ต้องลองพิจารณาถึงความเหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละคนให้ถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้เช่นกันค่ะ ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยก็มีผู้ให้บริการหลายรายที่มีการเปิดให้ใช้ระบบ BNPL เรียกได้ว่าป็นอีกหนึ่งฟินเทคมาแรงที่มีให้เราเลือกใช้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น SPayLater ของ Shopee, Pay Next ของ TrueMoney, PayLater ของ Grab, K PAY LATER ของธนาคารกสิกร, ฯลฯ ส่วนเงื่อนไขการอนุมัติ การแบ่งชำระ ระยะเวลา รวมไปถึงช่องทางการจ่ายคืน เงื่อนไขการผิดสัญญา และอื่น ๆ ก็แล้วแต่กำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งก็ต้องดูรายละเอียดกันให้ชัดเจนอีกทีด้วย
ส่วนทางฝั่งของไอทีเองก็มีข่าวคราวที่น่าสนใจเช่นกันกับบริการ Apple Pay Later จากแอปเปิล ซึ่งแม้ว่าจะดูไกลตัวจากคนไทยอยู่สักหน่อย (แต่ถ้า Apple Pay เข้ามา ก็ดูเหมือนจะมีโอกาสได้ใช้กันอยู่นะ)