x
icon-filter ค้นหาบ้าน
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ "สัญญากู้เงินซื้อบ้าน/คอนโด" อะไรที่คุณควรรู้ . . หรืออะไรที่ธนาคารอาจไม่อยากบอกคุณ

icon 27 ก.พ. 66 icon 20,396
รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ "สัญญากู้เงินซื้อบ้าน/คอนโด" อะไรที่คุณควรรู้ . . หรืออะไรที่ธนาคารอาจไม่อยากบอกคุณ
การขอสินเชื่อบ้านดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากวุ่นวายสำหรับผู้ที่เคยขอครั้งแรก ทั้งกลัวจะเสียเปรียบ กลัวโดนหลอก กลัวนู่นนั่นนี่หลายอย่างใช่มั้ยคะ ซึ่งบางอย่างนั้นธนาคารก็ไม่ได้บอกเงื่อนไขเราครบหรอกค่ะ แต่แน่นอนว่าทั้งหมดอยู่ในสัญญา! สิ่งที่เราต้องทำคือ อ่านให้ครบก่อนจรดปากกาเซ็น ไม่เข้าใจอะไรให้ถามก่อน แต่ก่อนที่เราจะถึงขั้นนั้น เรามีข้อควรรู้สำหรับนักกู้มือใหม่มาฝากกันค่ะ
1. MLR และ MRR ไม่เท่ากัน ต้องชัดเจนว่าอันไหน แล้วมีบวก/ลบอะไรด้วยไหม
อย่างแรกก่อนที่เราจะกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารก็คือตรวจสอบใบสรุปอัตราดอกเบี้ยก่อนทำสัญญาว่าธนาคารนั้นๆ ใช้อัตราดอกเบี้ย MLR หรือ MRR หรืออัตราดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ แต่ปกติแล้วการกู้ซื้อบ้านก็จะมีอยู่ 2 แบบค่ะ 
MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Term Loan) เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ถึงแม้ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ความหมายว่าสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี แต่ในความเป็นจริงธนาคารส่วนใหญ่ก็เสนออัตรา MLR นี้ให้กับลูกค้าได้แทบจะทุกประเภท ในกรณีที่การขอสินเชื่อนั้นเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี
โดยปกติแล้วถ้าเราลองเรียงลำดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดไปต่ำสุดจะเรียงได้แบบนี้คือ MRR>MOR>MLR แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เราได้ดอกเบี้ยในอัตรา MLR จากธนาคารแล้วเราจะดีใจว่าเราได้อัตราที่ต่ำสุด เพราะบางทีถ้าอีกธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ย MRR แต่มีลบด้วย X% ซึ่งพอคำนวณออกมาแล้ว จำนวนดอกเบี้ยอาจต่ำกว่า MLR (แบบไม่มีลบอะไรเลย) ก็ได้ค่ะ
ตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยเงิน MLR และ MRR วันที่ 27 กุมภาพันธ์ (อ้างอิงจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย)
 ธนาคาร MLR   MRR
 SCB  6.350  6.620
 KBANK  6.57  6.60
สามารถดูรายละเอียดความแตกต่างของ MLR และ MRR เพิ่มเติมได้ที่นี่
2. ถ้าชำระช้าจะโดนเบี้ยปรับเลย และดอกเบี้ยผิดนัดจะขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา
ถ้าหากผิดนัดชำระ จะโดนปรับเลยไหม? คำตอบก็คือ ปรับเลยหากผู้กู้ชำระเลยกำหนดเวลาชำระแต่ละครั้ง เช่น ทุกสิ้นเดือน ธนาคารจะคิดเบี้ยปรับทันที โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (Late Charge) ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะคิดไม่เท่ากัน อาทิ 
  • ธนาคารกสิกรไทย ร้อยละ 14.6 ต่อปี
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต ร้อยละ 14.18 ต่อปี
  • ธนาคารยูโอบี ร้อยละ 10.65 ต่อปี
  • ธนาคารกรุงไทย ร้อยละ 18 ต่อปี
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร้อยละ 12.8 ต่อปี
*ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ค้นหาข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566
3. Prepayment Fee แต่ละธนาคารอาจไม่เท่ากัน
Prepayment Fee คือ ค่าธรรมเนียมชําระคืนเงินกู้ก่อนกําหนด ในกรณีที่ผู้กู้นั้นต้องการโปะหนี้ให้หมดภายในระยะเวลา 3 ปีแรก เพื่อไปใช้วงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่น (Refinance) นับจากวันที่ทำสัญญา ผู้กู้ก็จะต้องยินยอมให้ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการชำระหนี้เกินจากยอดขึ้นต่ำ แต่ถ้าหากเป็นเงินเราเองสามารถชำระเท่าไหร่ก็ได้ไม่เสียค่าธรรมเนียมค่ะ 
 ธนาคาร ตัวอย่างอัตรา Prepayment Fee
 ธนาคารกรุงไทย (KTB)  ร้อยละ 3 ของเงินกู้ที่ชําระหนี้เสร็จสิ้น
 ธนาคารธนชาต (Thanachart)  ร้อยละ 3 ของภาระหนี้คงค้างตามสัญญากู้เงิน
 ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China)  ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด
 ธนาคารเกียรตินาคิน (Kiatnakin Bank)  ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ชำระคืนก่อนกำหนด
 ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)  ขั้นต่ำร้อยละ 1 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3

 
4. ขอสินเชื่อจะโดนทำ "ประกันภัยอัคคีภัย" พ่วงด้วยเสมอ แต่ "ประกันชีวิต" เราเลือกไม่ทำก็ได้
เวลาขอกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโดกับธนาคาร ธนาคารก็มักจะพ่วงประกันให้กับเราด้วย โดยเฉพาะประกันอัคคีภัย เพราะถือเป็นการลดความเสี่ยงให้กับธนาคารเองและผู้ทำประกันก็ได้ประโยชน์ ถ้าหากเกิดไฟไหม้ ประกันก็จะจ่ายให้กับธนาคาร และบางธนาคารก็จะบังคับให้เราซื้อประกันชีวิตเพิ่มอีก เพราะถ้าหากผู้กู้เสียชีวิต ประกันก็จะส่งต่อบ้านหรือคอนโดที่กู้ไว้ให้ 
ทั้งนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อหรือไม่ซื้อประกันชีวิตก็ได้แต่ก็อาจจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ หรือไม่เช่นนั้นก็จะมีเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ขึ้นมาถ้าหากซื้อประกันด้วย เช่น หากทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินกู้สินเชื่อหลัก จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 1 ปี เป็นต้น 
5. "ประกันภัย" เพื่อลดความเสี่ยงให้เราและธนาคาร แต่เราเป็นคนจ่ายค่าเบี้ย!!
อย่างที่กล่าวไปแล้วจากข้อด้านบนว่าส่วนใหญ่ธนาคารจะบังคับให้ทำประกันอัคคีภัย หรือให้ช่วยทำประกันชีวิตด้วย ซึ่งการทำประกันก็ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่จะทำให้แบ่งเบาภาระหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน แต่เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเอง โดยปกติแล้วเบี้ยประกันอัคคีภัยก็จะอยู่ที่ประมาณปีละ 2,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันชีวิตก็แล้วแต่ว่าจะทำแบบใด เบี้ยประกันก็จะอยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักแสน
6. ความรับผิดระหว่างคนกู้ร่วมและผู้กู้คืออะไร
ความรับผิดชอบของผู้กู้ร่วมแต่ละคนจะเป็นจำนวนเท่ากัน เช่น กู้ธนาคารร่วมกัน 2 คน เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ระหว่างผู้กู้ร่วมกันเองจะต้องรับผิดชอบกันคนละ 1 ล้านบาท ถ้าคนใดคนหนึ่งจ่ายไปเต็ม 2 ล้านบาท ก็สามารถไปเรียกจากอีกคนได้ครึ่งหนึ่ง (คือ 1 ล้านบาท) ดูบทความผู้กู้ร่วม : 10 เรื่องต้องรู้ก่อนเซ็นสัญญากู้ร่วมซื้อบ้านหรือคอนโด
7. ความยินยอมของผู้สมรสต้องมีกรณีไหนบ้าง?
สำหรับผู้ที่แต่งงานและจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วก่อนจะทำนิติกรรมใดๆ เช่น ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือ โอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากคู่สมรสก่อน คือต้องเซ็นสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นหลักฐานเพื่อให้ทราบว่า คู่สมรสจะไปทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ขอสินเชื่อ แต่หากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่กินฉันเป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นหนี้ส่วนตัว อีกฝ่ายไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่ต้องขอความยินยอมในการทำธุรกรรมดังกล่าว
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดวิธีจัดการสินสมรสในมาตรา 1476 ว่า สามีและภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วอาจถูกอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ภายหลัง ซึ่งการ "กู้เงิน" เป็นนิติกรรมหนึ่งที่ต้องได้รับความยินยอมของผู้สมรส ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่รู้เห็นด้วย ต้องมารับผิดชอบร่วมกัน
8. ต้องใช้เพื่ออยู่อาศัย ถ้าใช้เพื่อการพาณิชย์ ธนาคารอาจปรับอัตราดอกเบี้ยได้
ในการขอสินเชื่อถ้าหากระบุว่าเพื่ออยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นไปตามสัญญาที่ธนาคารกำหนดไว้ แต่ถ้าหากเราใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่น เปิดร้านอาหาร ทำเป็นโฮมออฟฟิศ ธนาคารก็จะมองว่ามีความเสี่ยงกว่าการอยู่อาศัยทั่วไป ธนาคารก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าอยู่อาศัยแบบธรรมดาได้ค่ะ
9. ธนาคารโยนค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้เราหมด!
จะกู้เงินซื้อบ้านสักหลังค่าใช้จ่ายทุกอย่างเราต้องรับผิดชอบเองค่ะ เริ่มตั้งแต่ค่าประเมิน ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ค่าอากรแสตมป์ เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องมีเงินสำรองเพียงพอต่อการจ่ายค่าธรรมเนียมทุกอย่างที่จะตามมาด้วย
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการขอสิ่นเชื่อและการโอนบ้าน จำนวน 2 ล้านบาท
 ค่าใช้จ่าย  จำนวนเงิน
 ค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าธรรมเนียมยื่นกู้ ประมาณ 0-1% ของวงเงินที่ขอกู้   ประมาณ 20,000 บาท
 ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ อยู่ระหว่าง 0-0.5% ของราคาประเมินของกรมที่ดิน  ประมาณ 10,000 บาท
 ค่าธรรมเนียมประกันอัคคีภัยประมาณ 2,000 บาท ต่อมูลค่าบ้าน 1 ล้านบาท  ประมาณ 4,000 บาท
ถ้าเป็นกรณี Refinance  ค่าธรรมเนียมชําระคืนเงินกู้ก่อนกําหนด (Prepayment Fee) 1-5% แล้วแต่ธนาคาร  ประมาณ 60,000 บาท (คิดจาก 3%)
 ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% ของวงเงินที่ขอกู้  ประมาณ 20,000 บาท
 ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมินของกรมที่ดิน (ส่วนใหญ่จะคนละครึ่งระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ)  ประมาณ 40,000 บาท
 (ส่วนใหญ่จะคนละครึ่งระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ)
 ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ ประมาณ 1,000 บาท
 ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามระเบียบของกรมที่ดิน ประมาณหลักร้อย-พันบาท
*ค่าใช้จ่ายนี้เป็นเพียงการคิดคำนวณอย่างคร่าวๆ อาจน้อยกว่าหรือมากกว่าที่แจ้งในตารางก็ได้
10. ระวังไว้เราอาจผิดนัดโดยไม่รู้ตัว ควรอ่านข้อ "เหตุผิดนัด" ให้ละเอียด
เราอาจผิดสัญญาโดยไม่รู้ตัว เช่น เราทำธุรกิจแต่ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ มีผลกระทบทางการเงิน ถูกฟ้องร้อง หรือเกิดไฟไหม้ครัวในคอนโดที่เราอยู่ ทำให้เกิดการเสื่อมหรือเสียราคาหรือมีมูลค่าลดน้อยลง ถ้ามีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นจากตัวอย่างที่กล่าวไป ในสัญญามักเรียกว่า "เหตุผิดนัด" ธนาคารก็จะมีการกำหนดระยะเวลาให้แก้ไข แต่ถ้าไม่แก้ไขธนาคารก็จะถือว่าผู้กู้ผิดสัญญาที่ทำไว้กับธนาคาร เราก็ต้องชำระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดทันที หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็มีสิทธิจะฟ้องเรา
11. ดอกเบี้ยทบต้นจะคิดได้ต้องค้างก่อน 1 ปี ไม่งั้นผิดกฎหมาย
ดอกเบี้ยทบต้น มาตรา 655 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมเงินจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ หรือพูดง่าย ดอกเบี้ยทบต้นก็คือการเอาดอกเบี้ยค้างชำระไปบวกเข้ากับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยบนจำนวนที่รวมกันแล้วนั้นอีกที
12. ถ้าเราผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากเราได้ตลอด
หากเรามีปัญชีเงินฝากที่เป็นธนาคารเดียวกับธนาคารที่ขอสินเชื่อ ธนาคารจะสามารถถอนเงินจากบัญชีเราไปชำระหนี้ได้ถ้าหากค้างชำระค่ะ ซึ่งในกรณีนี้นั้นต้องมีระบุในสัญญาด้วยนะคะ (ข้อสัญญาหักกลบลบหนี้ (Set-off)) ส่วนใหญ่จะระบุประมาณว่า เช่น เมื่อมีเหตุผิดนัดสัญญาเกิดขึ้น ผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทที่ผู้กู้หรือผู้กู้เป็นเจ้าของร่วมกับบุคคลอื่นใด (ถ้ามี) มีอยู่กับธนาคาร รวมทั้งเงิน หรือหนี้สินที่เป็นตัวเงินอื่นใดที่ผู้กู้เป็นเจ้าของหนี้ของธนาคาร หรือมีสิทธิได้รับคืนจากธนาคาร เพื่อนำมาชำระหนี้ที่ผู้กู้ค้างชำระอยู่กับธนาคารได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม หรือส่งหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ผู้กู้  หรือเจ้าของร่วมดังกล่าว และไม่ต้องรอให้รายการฝากเงิน หรือหนี้ที่ธนาคารเป็นลูกหนี้ของผู้กู้ถึงกำหนดชำระแต่อย่างใด
13. ถ้าบ้านเสียหาย บริษัทประกันจะจ่ายเงินประกันให้ธนาคารก่อนเสมอ
ผู้ที่กู้จะต้องทำประกันวินาศภัยกับธนาคารหรือสถาบันอื่นที่ธนาคารยอมรับ โดยเงินประกันจะต้องไม่น้อยกว่าราคาประเมินบ้านหรือคอนโดของเรา ในสัญญาจะระบุให้ธนาคาร (ผู้ให้กู้) เป็นผู้รับประโยชน์และเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับกรมธรรม์แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าถ้าหากบ้านเราเกิดเสียหายขึ้นมา สถาบันที่เราทำประกันไว้ก็จะนำเงินประกันไปจ่ายให้กับธนาคารก่อนค่ะ
14. ธนาคารมีสิทธิเรียกหลักประกันจากเราเพิ่มได้เสมอ
การชำระเงินกู้ รวมไปถึงดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองโดยหลักประกัน สัญญากู้มีกำหนดชัดเจนว่าผู้ให้กู้อาจให้ผู้กู้หาหลักมาประกันมาเพิ่ม ในกรณีที่หลักประกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรืออาจจะไม่เพียงพอต่อเงินกู้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ที่ผู้ให้กู้เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งถ้าธนาคารเรียกให้เราส่งหลักประกันเพิ่ม แต่เราไม่ทำก็ถือว่าเราผิดสัญญา
15. ธนาคารสงวนสิทธิไม่ให้เบิกเงินกู้ได้เสมอ
ในช่วงที่ทำเรื่องกู้และยังไม่ได้เบิกเงินหรือเบิกแล้วแต่ยังไม่ครบตามสัญญา ถ้าหากธนาคารมองว่าเราไม่สมควรจะได้รับเงินกู้เพราะเห็นว่าเรามีคุณภาพเครดิตเสื่อมถอยลงไม่อาจปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญากู้เงินได้ หรือมีการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการเบิกเงินกู้ตามสัญญากู้เงิน ธนาคารมีสิทธิที่จะไม่การจ่ายเงินกู้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่เราได้ทันที และถือว่าเราไม่มีสิทธิในสัญญาต่อไป หมายถึงสินเชื่อจะถูกยกเลิก ซึ่งตัวเราเองจะต้องยอมรับผลการพิจารณาของธนาคาร และเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความเสียหายใดๆ กับธนาคารได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อที่เราควรรู้คร่าวๆ ก่อนที่จะไปขอสินเชื่อซื้อบ้านหรือคอนโดกับธนาคารค่ะ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ ก็อย่าลืมที่จะอ่านสัญญาให้ดีนะคะ เพราะเรื่องนี้สำคัญมากทีเดียว บางทีเราอาจจะรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบหรือเสียเปรียบได้ แต่แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นตัวเราเองที่ไม่อ่านอย่างละเอียด บวกกับธนาคารไม่ได้บอกเราค่ะ ติดตามกันได้ใหม่ครั้งหน้านะคะ  หรือถ้าใครอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน-คอนโด เรื่องอะไร บอกกับทีมงาน CheckRaka.com ไว้ได้เลยจ้า
แท็กที่เกี่ยวข้อง ธนาคาร กู้เงิน ผ่อนบ้าน กู้เงินซื้อบ้าน
Property Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Property Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)