บ้านพรีคาสท์ : นวัตกรรมการสร้างบ้านจากต่างประเทศ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ้านจัดสรร และทาวน์เฮ้าส์ในบ้านเราเริ่มมีการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านแบบพรีคาสท์ (Precast) มาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเวลาได้ยินการก่อสร้างแบบนี้ ก็อาจสงสัยว่า เอ๊ะ!! บ้านแบบนี้จะดีกว่าการสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูนเดิมๆ ยังไง หรือจะมีความคงทนหรือเปล่า จริงๆ แล้วการก่อสร้างแบบพรีคาสท์นั้นมีมาตั้งนานแล้วในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ทางยกระดับ อาคารสูง หรือบ้านในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการพิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่าแข็งแรงมีข้อดีหลายอย่าง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการบ้านเราจึงเริ่มนำเทคโนโลยีพรีคาสท์นี้มาใช้ในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามีเนื้อหาดีๆ เกี่ยวกับพรีคาสท์มาฝากกันค่ะ มาดูกันว่า พรีคาสท์คืออะไร ดีสำหรับผู้บริโภคยังไง และขั้นตอนการสร้างบ้านแบบนี้เป็นยังไงบ้าง
รูปแบบหลักๆ ของระบบสร้างบ้านกึ่งสำเร็จรูป
ปัจจุบันนี้ เนื่องจากมาตรฐานแรงงานคนในบ้านเราที่ก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนแล้วมักออกมาไม่ได้มาตรฐาน หรือทำงานด้วยความล่าช้า ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันมาใช้วิธีการสร้างบ้านจัดสรรด้วยระบบกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นเรื่อยๆ และพรีคาสท์ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการสร้างบ้านประเภทนี้ เราลองมาดูกันค่ะว่าปัจจุบันในบ้านเรา มีระบบกึ่งสำเร็จรูปหลักๆ อะไรบ้าง
1. ระบบพรีคาสท์ (Precast Concrete) ระบบนี้เป็นการนำเอาชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปที่หล่อมาจากโรงงาน มาประกอบ หรือติดตั้งเป็นบ้านขึ้นมา โดยบ้านหลังหนึ่งอาจมีส่วนประกอบพรีคาสท์หลายส่วน เช่น ชิ้นส่วนผนังสำเร็จรูป ชิ้นส่วนพื้นสำเร็จรูป หรือชิ้นส่วนรั้วสำเร็จรูป เป็นต้น หากบ้านเป็นแบบ Fully Precast จะไม่มีเสาและคาน แต่จะเป็นระบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนักแทน ระบบพรีคาสท์ในไทยมีการใช้มานานแล้ว เช่น การก่อสร้างสะพาน หรือทางยกระดับ และในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เริ่มมีการนำนวัตกรรมนี้มาใช้ในการสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมมากขึ้นเรื่อยๆ | ภาพการประกอบผนังพรีคาสท์ (Precast)
|
2. ระบบอุโมงค์ (Tunnel Form) ระบบนี้เป็นระบบโครงสร้างที่เทคอนกรีตผนังรับน้ำหนัก และพื้นพร้อมกันอย่างต่อเนื่องโดยใช้ไม้แบบ (เหล็ก) เป็นระบบที่ใช้กันมากในการสร้างทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮ้าส์ซึ่งมีผนังอาคารแต่ละหลังเรียงแถวติดกัน ข้อดีคือ ปัญหารั่วซึมน้อย เพราะมีก็เพียงรอยต่อหลักๆ เช่น รอยต่อระหว่างห้องเท่านั้น และยังมีจุดเด่นคือความรวดเร็วและความแข็งแรงอีกด้วย แต่จุดอ่อนสำคัญของระบบนี้คือผนังจะไม่เรียบ และแบบบ้านก็ค่อนข้างน้อย ไม่มีความหลากหลาย
| ภาพการก่อสร้างระบบอุโมงค์ (Tunnel) ขอบคุณภาพจาก thai.alibaba.com |
3. ระบบกล่อง (Modular) Modular หรือแบบกล่องมิติหรือขนาด เป็นการประกอบบ้านขึ้นจาก Module หรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานซึ่งเป็นระบบที่มีการบอกขนาดจากจุดอ้างอิง หรือพิกัดอ้างอิงในสามมิติ คือ พิกัดความสูง ความกว้าง และความยาว ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ จะเป็นส่วนโครงสร้างหลักๆ ของบ้าน เช่น ผนังทั้งภายในและภายนอก ระบบนี้เป็นการผลิตและควบคุมคุณภาพจากที่โรงงานแล้วนำมาประกอบหน้างาน ซึ่งทำให้สามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มาก และมีความสม่ำเสมอ และมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตัวอย่างบ้านแบบนี้ก็เช่น บ้าน SCG Heim ( คลิกเพื่อดูบทความ) | ภาพการก่อสร้างบ้านประกอบระบบกล่อง (Modular) |
บ้านพรีคาสท์คอนกรีต (Precast Concrete) คืออะไร ?
อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ การสร้างบ้านโดยใช้ระบบชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จมาประกอบเข้าด้วยกัน คำว่า "Pre" แปลว่า ก่อน คำว่า "Cast" แปลว่าการหล่อ หรือการเทในแบบ ดังนั้น เมื่อเอาสองคำนี้มารวมกันประกอบกับคำว่า "Concrete" ก็จะแปลได้ว่า การเท หรือการหล่อคอนกรีตเข้าไปในเบ้าหล่อ หรือแบบหล่อ (Mould) เสร็จแล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสม แล้วก็ขนส่งคอนกรีตแต่ละชิ้นนั้นไปประกอบกันขึ้นมาเป็นทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านเดี่ยวที่หน้างาน ซึ่งคอนกรีตแต่ละชิ้นที่หล่อขึ้นมานั้นก็จะเป็นองค์ประกอบแต่ละส่วนของบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์นั่นเอง เช่น บางชิ้นก็เป็นส่วนพื้น บางชิ้นก็เป็นส่วนผนัง หรือบางชิ้นก็เป็นส่วนหน้าอาคาร (Facade) การก่อสร้างบ้านระบบพรีคาสท์มีกันมานานแล้วในต่างประเทศ ส่วนในบ้านเรานั้น เริ่มนิยมนำมาสร้างบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว และแข็งแรง แต่จริงๆ แล้ว ระบบพรีคาสท์ในบ้านเราก็มีการใช้มานานแล้วเช่นกันแต่ใช้กันในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ใช้ในการสร้างสะพาน ทางด่วน ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงว่าหากนำระบบนี้มาสร้างบ้านแล้ว บ้านเราจะแข็งแรงขนาดไหน คิดง่ายๆ ก็คือเหมือนกับเราเอาชิ้นส่วนของทางด่วนมาประกอบเป็นบ้านเราเลย
บ้านพรีคาสท์ดียังไงสำหรับผู้บริโภค ?
ในตลาดขายบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์มักจะชอบโฆษณาว่า บ้านพรีคาสท์ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ แต่ข้อดีเหล่านั้นมักจะเป็นข้อดีในมุมมองผู้ประกอบการ (หลักๆ ก็เช่น ร่นระยะเวลาการก่อสร้างในมากกว่าวิธีอื่นๆ ลดต้นทุนและแรงงานก่อสร้าง ก่อสร้างได้ในทุกพื้นที่ เป็นต้น) แต่วันนี้ เรามาดูกันว่า ข้อดีในมุมมองของผู้บริโภคจะมีอะไรบ้าง
ข้อดีสำหรับผู้บริโภค - การก่อสร้างมีคุณภาพสม่ำเสมอมาตรฐานเดียวกัน เพราะกระบวนการผลิตชิ้นงานคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปทุกขั้นตอนถูกควบคุมด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบคอมพิวเตอร์ ผลก็คือ งานจะออกมาดีกว่า ไม่มีปัญหาอย่างเช่น ฉาบปูนไม่ดี กำแพงไม่เรียบ หรือเสาเอียง และโอกาสที่งานจะออกมาคุณภาพไม่ดีเหมือนการใช้แรงงานคนในบางโครงการจะเป็นไปได้น้อยกว่า ตัวอย่างเช่น กรณีของคอนโดเดอะ เบส สุขุมวิท 77 ที่มีปัญหาโฟมแปลกปลอมอยู่ในผนังกำแพงนั้น ปัญหาที่พบเจอโฟมคือในส่วนของผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยใช้แรงงานคน แต่ไม่ได้เกิดในส่วนของผนังพรีคาสท์ส่วนอื่นๆ ในโครงการเป็นต้น ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในลิงก์ข่าวนี้ (คลิก)
- คงทนแข็งแรงแม้กระทั่งแผ่นดินไหว ชิ้นงานทุกชิ้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีค่าความแข็ง (Stiffness) สูงกว่าระบบเสาโครง และผนังก่ออิฐ จึงมีความคงทนแข็งแรง และใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักชั้นบนได้ (Load Bearing Wall) ด้วยลักษณะโครงสร้างดังกล่าวทำให้ทนต่อแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวได้มากกว่าการก่อสร้างแบบผนังก่ออิฐทั่วไป (ซึ่งไม่สามารถรับแรงกระแทก หรือแรงกระทบด้านข้างได้ดีเท่าพรีคาสท์คอนกรีต)
- ไม่ต้องห่วงเรื่องเสากลางบ้าน เพราะเป็นระบบการก่อสร้างที่ไม่มีเสาและคาน แต่ใช้ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นตัวรับน้ำหนักของบ้าน ทำให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และก่อให้เกิดความสวยงามในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ที่มีความลงตัวมากกว่า
- เรียบสวยเนี้ยบกว่า ส่วนประกอบทุกชิ้นผ่านระบบควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอ และขัดผิวจนเรียบจึงได้ระดับเท่ากัน ทาสี หรือตกแต่งด้วยวอลล์เปเปอร์ได้ทันที ไม่มีปัญหาผนังเป็นคลื่นเหมือนการก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป
- ช่วยป้องกันความร้อน มีค่าความเป็นฉนวนสูง จึงสามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกได้ดี แต่หากบ้านโดนแดดนานๆ ก็อาจเกิดการสะสมความร้อนได้เช่นกัน (ดูข้อจำกัดด้านล่าง)
- มีความต้านทานไฟสูงกว่า เพราะคอนกรีตมีคุณสมบัติที่ทนไฟมากกว่ากำแพงก่ออิฐ หรือผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป และมีส่วนช่วยป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามไปยังห้องข้างเคียงได้ด้วย ปกติแล้วคอนกรีตจะสามารถต้านทานไฟได้มากกว่า 2 ชั่วโมง ในขณะที่ผนังก่ออิฐฉาบปูนจะสามารถทนไฟได้ประมาณ 1 ชั่วโมง
- ป้องกันเสียงรบกวน วัสดุคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความทึบเสียงมากกว่าวัสดุประเภทอิฐและไม้ จึงสามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก หรือเสียงดังจากห้องข้างเคียงได้ดีกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน
- ต้านทานการซึมน้ำสูง ทำให้สีพื้นผิวมีความคงทน สวยงาม และไม่เกิดเชื้อรา โดยปกติ เมื่อมีฝนตก ผนังคอนกรีตสามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดีกว่าอิฐซึ่งมีความพรุนสูงทำให้เมื่อมีน้ำ หรือฝนตก อิฐจะดูดซึมน้ำ หรือความชื้นเข้ามาที่ผนัง ทำให้อาจเกิดเชื้อรา หรือสีร่อนได้
- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งลดมลภาวะทางเสียง ฝุ่น เศษอิฐ เศษปูน ขยะจากคนงานก่อสร้าง และปัญหาการจราจรในสถานที่ก่อสร้าง
- ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าบำรุงรักษาต่ำ เพราะเทคโนโลยีพรีคาสท์ทำให้บ้าน และอาคารมีความแข็งแรง คงทน และมีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยต่ำกว่าโครงสร้างประเภทอื่นๆ และยังส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาต่ำ เนื่องจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการทาสีใหม่ในรอบ 8-10 ปี เท่านั้น
ข้อดีสำหรับผู้ประกอบการ - สามารถก่อสร้างได้ในทุกพื้นที่ด้วยการหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตจากโรงงาน ชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจะมีการทำกันในโรงงาน ก่อนที่จะนำมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สามารถขนย้ายไปก่อสร้างได้แม้ในที่ห่างไกล หรือในกรณีที่ Site งานสภาพอากาศไม่ดี และการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปจากโรงงานที่ออกมาจะมีคุณภาพเท่าเทียมกันเสมอ
- ลดต้นทุนการก่อสร้าง และแรงงานมากกว่าการก่อสร้างด้วยวิธีอื่นๆ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการผลิต หรือสร้างบ้านพร้อมกันหลายหลัง (Economy of Scale) เช่นในลักษณะของบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์จัดสรร เพราะหากไม่เป็นลักษณะของการผลิต หรือสร้างพร้อมกันหลายหลัง ต้นทุนต่อหลังจะแพงกว่าบ้านก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป
- ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ใช้เวลาน้อยกว่าการก่อสร้างด้วยวิธีอื่นๆ
ข้อจำกัดของบ้านพรีคาสท์
ต้องยอมรับว่าระบบสำเร็จรูปเมื่อมีข้อดี ก็อาจจะตามมาด้วยข้อจำกัด หรือข้อด้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อจำกัดหลักๆ ของบ้านระบบพรีคาสท์ในมุมมองของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านประเภทนี้มีดังต่อไปนี้ - ผนังพรีคาสท์จะไม่สามารถเจาะช่องหรือทุบผนังเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยได้ ในระบบพรีคาสท์ ผนังถูกออกแบบไว้ให้รองรับน้ำหนักในแนวตั้งด้วยแทนเสา และคาน ดังนั้น การทุบรื้อ เจาะช่อง สกัด หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลต่อความแข็งแรง และการถ่ายแรงของโครงสร้างโดยตรง ดังนั้น ก่อนจะดำเนินการดังกล่าว หรือการเปลี่ยนฟังก์ชั่นภายในบ้าน (เช่นทุบห้อง 2 ห้องติดกันให้กลายเป็นห้องใหญ่ห้องเดียว) จึงควรต้องปรึกษาวิศวกรที่มีความรู้ก่อนการดำเนินการดังกล่าวทุกครั้ง อย่างไรก็ดี หากเป็นการเจาะเล็กน้อย เช่น เพื่อแขวนภาพนั้นสามารถทำได้
- รอยต่อหรือจุดเชื่อมต่อ (Joint) อาจมีปัญหาน้ำรั่วซึม โดยปกติการก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์แบบผนังรับแรง จะมีจุดเชื่อมต่อของผนังแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ (ก) รอยต่อผนังตามแนวตั้ง เช่นมุมของบ้าน หรือแนวผนังที่ชนกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะพบทุกชั้นของบ้าน และ (ข) รอยต่อผนังตามแนวนอน เช่นรอยต่อของแผ่นผนังชั้นบน และชั้นล่างต่อเชื่อมกันยาวโดยรอบตัวบ้าน รอยต่อเหล่านี้ หากประกอบกันไม่ดี หรือวัสดุเชื่อมต่อไม่ดี หรือเสื่อมสภาพ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องการซึมน้ำ ความชื้น และส่งผลให้สีหลุดร่อนตามมาได้
- แบบบ้านพรีคาสท์อาจมีไม่หลากหลาย เนื่องจากบ้านพรีคาสท์เป็นการก่อสร้างด้วยระบบสำเร็จรูป ดังนั้น บางดีไซน์จึงอาจจะดูคล้ายกล่องได้ ถ้าหากอยากได้ลูกเล่นให้บ้านเยอะๆ ก็ต้องออกแบบ และทำหลายแผ่นค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากขึ้นตามลำดับ
- เก็บความร้อน เนื่องจากบ้านพรีคาสท์คือบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความทึบสูง (คือมีความหนาแน่นสูง) มากกว่าเมื่อเทียบกับอิฐหรือปูน ทำให้มีการนำความร้อน และอมความร้อนได้มากกว่า ส่งผลให้อากาศภายในห้องที่ทำด้วยผนังพรีคาสท์ มักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าห้องที่ทำจากอิฐหรือปูนเมื่อมีแดดส่องผนังพรีคาสท์เป็นระยะเวลานาน
ปัจจุบันพรีคาสท์ถือเป็นเรื่องปกติในวงการอสังหาฯ ไปแล้ว
ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายๆ รายหันมาใช้วิธีการสร้างบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมแบบพรีคาสท์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างรายใหญ่ๆ เลยก็เช่น พฤกษา และแสนสิริ ซึ่งมีใช้ทั้งในโครงการบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์จัดสรร และคอนโดมิเนียม เพราะทั้งพฤกษา และแสนสิริเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงงานพรีคาสท์เป็นของตัวเอง (ซึ่งเราจะไปเยี่ยมชมโรงงานของพฤกษากันข้างล่างนี้) หรือว่าอนันดาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำในตลาดคอนโดมิเนียม ก็ใช้พรีคาสท์สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมหลายๆ โครงการเช่นกัน รวมถึงในต่างประเทศ การก่อสร้างอาคาร สถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก และอาคารสูงหลายอาคารในเมืองใหญ่ๆ ก็ใช้ระบบพรีคาสท์ด้วยเช่นกัน เรามาลองดูตัวอย่างกันค่ะ
คอนโดมิเนียมหลายโครงการของพฤกษาใช้ระบบ Precast ในการก่อสร้าง
คอนโดมิเนียมหลายโครงการของอนันดาก็ใช้ระบบ Precast ในการก่อสร้างเช่นกัน
ตัวอย่าง VDO Graphic แสดงการสร้างบ้าน Precast ในต่างประเทศ
Australia - หลังคารูปเสี้ยววงกลมแต่ละชิ้นของ Opera House ในซิดนีย์ เป็นพรีคาสท์คอนกรีต Singapore - The Sail at Marina Bay คอนโดมิเนียมสูง 70 ชั้นริมน้ำ
เป็นอาคารที่พักอาศัยที่สูงที่สุดในสิงคโปร์ โดยโครงสร้างอาคารเป็นระบบพรีคาสท์คอนกรีต China - อาคาร Xiwang Tower หรือ Dalian Hope Mansion อาคาร 40 ชั้นในเมืองต้าเหลียน ประเทศจีน
ที่ใช้กำแพงผนัง และกำแพงยึดกระจกเป็นพรีคาสท์คอนกรีตทั้งหมด
ขั้นตอนการสร้างบ้านพรีคาสท์เป็นอย่างไร ?
เริ่มด้วยขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนก่อน เช่น ผนังของบ้านพรีคาสท์
1. Cleaning & Oiling ทำความสะอาดและเคลือบน้ำมันโต๊ะหล่อ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การหล่อผนัง
2. Plottering ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากเยอรมัน พ่นสีกำหนดจุดประตู
หน้าต่าง ปลั๊กไฟ ท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟด้วยระบบคอมพิวเตอร์
3. Shuttering วางแบบกั้นข้างเพื่อเป็นแนวในการเทคอนกรีต ด้วยระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ
4. Reinforcement วางเหล็กเสริมเพิ่มความแข็งแรงตามตำแหน่งที่วางไว้
5. Concrete Casting เทคอนกรีต ด้วยเครื่องเทคอนกรีตเพื่อความสม่ำเสมอ
6. Smoothening ขัดหน้าคอนกรีตด้วยเครื่องขัดคอนกรีต
เพื่อทำให้ผิวหน้าคอนกรีตเรียบสวยงาม โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง
7. Curing นำแผ่นพรีคาสท์เข้าเครื่องบ่มคอนกรีต 7 ชั่วโมง
8. Shuttering Removing ถอดแบบกั้นข้างออกจากชิ้นงาน และนำมาตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน
9. Tilting ยกโต๊ะหล่อชิ้นงานขึ้นเป็น 85 องศา และยกชิ้นงานออกจากโต๊ะหล่อ
เพื่อตรวจสอบคุณภาพและเตรียมจัดเก็บชิ้นงาน
10. Automade Storage จัดเก็บชิ้นงานในพื้นที่ Stock ด้วยระบบอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็จะส่งชิ้นงานไปติดตั้งที่หน้างาน
11. Concrete Recycling เป็นขั้นตอนที่มีเฉพาะโรงงานที่ 6 และ 7 เป็นการแยกน้ำ หิน และทราย เพื่อนำกลับไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย
หลังจากนั้น ก็ถึงขั้นตอนการประกอบบ้านพรีคาสท์
1. เตรียมฐานเสาเข็มไว้ก่อนการประกอบ โดยเสาเข็มจะฝังลึกลงดิน 3 เท่า ของตัวบ้าน 2. ติดฐานรากบ้านและฐานรั้ว เสริมเหล็กและตรวจสอบก่อนเทคอนกรีต 3. เทพื้นชั้นล่างและคานขั้นตอนนี้ต้องลงน้ำยาป้องกันปลวก ติดตั้งท่อประปา ท่อร้อยสายไฟฟ้า
4. ประกอบผนังชั้นล่างก่อนโดยวางผนังชั้นล่างที่มีเหล็กเตรียมไว้ ยึดโครงสร้างผนังเข้าด้วยกันด้วยคอนกรีตพิเศษ
5. ติดตั้งรั้วบ้าน
6. ติดตั้งพื้นชั้นบนโดยการยกแผ่นพื้นสำเร็จรูปวางลงผนังชั้นล่าง ยึดรอยต่อด้วยเหล็กเส้น และติดตั้งผนังชั้นบนต่อไป
7. ยกโครงสร้างหลังคา ที่ประกอบเป็นชุดเรียบร้อยแล้วลงบนผนังชั้นบน
ตรวจสอบคุณภาพให้ครบถ้วนอีกครั้ง และมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง
วีดีโอขั้นตอนการสร้างบ้านพรีคาสท์
เยี่ยมชมโรงงานพรีคาสท์ของจริง
CheckRaka.com ได้มีโอกาสไปเยียมชมโรงงานพรีคาสท์ของพฤกษา โรงที่ 1-5 ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่กว่า 190 ไร่ และอีกที่คือโรงงานพฤกษาพรีคาสท์ นวนคร จังหวัดปทุมธานี โรงที่ 6 และ 7 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานก็พบกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทีมงาน และตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆ มีการทำงานจากเครื่องจักรอย่างเป็นระบบ จากนั้นทีมงานก็พาเราไปเรียนรู้กระบวนการผลิตแผ่นพรีคาสท์ของบริษัทฯ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย ซึ่งโรงงานได้ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันนี้โรงงาน Pruksa Precast มีทั้งสิ้น 7 โรงงาน ดังต่อไปนี้
โรงงาน 1 ลงทุน 650 ล้านบาท ผลิตผนังสำเร็จรูปบ้านและคอนโดมิเนียม
ภาพด้านหน้าของโรงงาน PCF 1 เริ่มดำเนินการปลายปี 2547 โรงงาน 2 ลงทุน 150 ล้านบาท ผลิตรั้วบ้าน/ทาวน์เฮ้าส์ ในช่วงปี 2557 มีนโยบายใหม่ เปลี่ยนจากทำรั้วเป็นทำห้องน้ำสำเร็จรูป
ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 2 เริ่มดำเนินการเดือนกันยายน 2548 โรงงาน 3 ลงทุน 250 ล้านบาท เป็นโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป เน้นหล่อพื้นและชิ้นส่วนคอนโดมิเนียม และปี 2554 เปลี่ยนมาเป็นหล่อพื้นคอนกรีตอัดแรง
ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 3 เริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2550 โรงงาน 4 ลงทุน 250 ล้านบาท เป็นโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตผนังสำเร็จรูปรับแรง (Bearing Wall for Condominium) และหน้ากากทาวน์เฮ้าส์ (Facade for Townhouse)
ภาพภายนอกของ PCF 4 เริ่มดำเนินการเดือนกันยายน 2553 โรงงาน 5 ลงทุน 800 ล้านบาท เป็นโรงงานที่ว่ากันว่า มีระบบทันสมัยที่สุดในโลกสำหรับผลิตแผ่นผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป และเป็นโรงงานที่เราเห็นกระบวนการผลิตแผ่นพรีคาสท์ข้างต้นด้วยค่ะ
ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 5 เริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2553 โรงงาน 6 และ 7 โดยโรงงานที่ 6 เป็นโรงงานหล่อผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป และโรงงานที่ 7 จะเป็นโรงงานหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กและคานคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง ทั้ง 2 โรงงานนี้เป็น Green Factory แห่งแรกในประเทศไทยลดมลภาวะเรื่องเสียง ฝุ่น และน้ำเสียฯ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนี และนำระบบ Concrete Recycling มาใช้เพื่อนำน้ำทิ้งและเศษคอนกรีตจากการทำงานกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ไม่ไม่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาพมุมสูงของโรงงาน PCF 6 และ PCF 7 ปัจจุบันก่อสร้างได้คืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว (ณ วันที่ 27 พ.ย. 57) ในมุมุมองของพฤกษา การขยายโรงงานเพิ่มเติมจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพราะเมื่อกำลังการผลิตมาก สินค้าก็จะราคาถูกลง (Economy of Scale) และทางบริษัทก็วางแผนการควบคุมต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของคอนกรีตผสมเสร็จ ที่เลือกใช้ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญาตรึงราคาไว้ล่วงหน้าถึง 3 ปีแล้ว เรียกได้ว่าพฤกษาแต่งตัวเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการสร้างบ้านพรีคาสท์ในเมืองไทยกันเลยทีเดียว
หลายปีมานี้ สังเกตได้ว่าพฤกษาเปิดโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พฤกษาสามารถก่อสร้างโครงการได้มากมายขนาดนั้นได้ ก็คือการที่พฤกษามีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นของตัวเอง ซึ่งในตอนนี้พฤกษาได้เดินเครื่องผลิตอย่างเต็มกำลังใน 7 โรงงาน ทำให้บริษัทสามารถรองรับการผลิตบ้านได้ 1,120 หลัง/เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดโครงการใหม่และแผนการส่งมอบบ้านคุณภาพให้กับลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากการผลิตผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป, พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก และคานคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงแล้ว ในปี 2557 พฤกษาได้นำห้องน้ำสำเร็จรูปมาใช้ในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งข้อดีก็คือจะไม่มีการรั่วซึมของน้ำจากชั้นหนึ่งไปสู่อีกชั้นหนึ่งอย่างเด็ดขาด เพราะห้องน้ำจะไม่มีรอยต่อและควบคุมคุณภาพจากโรงงานอย่างละเอียดก่อนไปติดตั้งที่หน้างาน เดี๋ยวเราไปชมตัวอย่างห้องน้ำสำเร็จรูปกันเลยค่ะ
ตัวอย่างห้องน้ำที่จัดแสดง
ดูแล้วไม่แตกต่างไปจากห้องน้ำที่ใช้การก่ออิฐเลย แถมยังสวยกว่าด้วย
ภายในห้องน้ำจะไม่มีรอยต่ออันเป็นสาเหตุให้น้ำรั่วซึมได้ หมดกังวลเรื่องนี้ได้เลยค่ะ
ด้านหลังของห้องน้ำจะเห็นการวางระบบท่อน้ำเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมสำหรับการนำไปติดตั้งที่หน้างานแล้ว สุดท้ายนี้ ถ้าหากใครยังมองภาพไม่ออกว่าระบบพรีคาสท์แตกต่างจากระบบเดิมยังไง เรามาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นข้อแตกต่างบ้านแต่ละประเภทกันค่ะ
เรื่อง | อิฐมอญ | อิฐมวลเบา | ระบบพรีคาสท์ |
โครงสร้าง1 | จะต้องมีเสาคานเสมอ | จะต้องมีเสาคานเสมอ | หากเป็นระบบผนังรับแรง (Beaming Wall System) จะไม่มีเสาคาน |
ความแข็งแรง2 | อาจไม่แข็งแรงเท่าพรีคาสท์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฝีมือแรงงาน การควบคุมคุณภาพของช่าง ดังนั้นจึงไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน | อาจไม่แข็งแรงเท่าพรีคาสท์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฝีมือแรงงาน การควบคุมคุณภาพของช่าง ดังนั้น จึงไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน | โดยหลักการจะแข็งแรงกว่าการก่อสร้างด้วยอิฐ เพราะวัสดุทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่ผ่านขั้นตอนการผลิตแบบควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน จึงมีมาตรฐานที่แน่นอน |
ระยะเวลาก่อสร้าง3 | 1.6 หลัง/เดือน | 1.6 หลัง/เดือน | 2 หลัง/เดือน |
อัตราการกันเสียง4 | 35 พอใช้ | 37 ดี | 49 ดีมาก |
อัตราการต้านทาน ความร้อน5 | 0.057-0.058 sqm K/M ไม่ดี | 0.77 sqm K/M ดี | 0.63 sqm K/M ดี |
อัตราการทนไฟ6 (หนา 10 ซ.ม.) | ทนได้ 1 ชั่วโมง | ทนได้ 3 ชั่วโมง | ทนได้ 2 ชั่วโมง |
อัตราการดูดซึมน้ำ7 | 13 - 18 % | 30 - 40 % | 6% |
ราคา8 | 240 บาท/ตร.ม. | 210-215 บาท/ตร.ม. | ไม่สามารถเทียบราคาระหว่างผนังก่ออิฐกับ Precast ได้ เพราะผนังก่ออิฐนั้น ราคายังไม่รวมในส่วนที่เป็นโครงสร้าง แต่ Precast ได้รวมโครงสร้างไปแล้ว |
แหล่งข้อมูล1 www.pruksa.com2 www.pruksa.com2 ศุภณัฐ วัฒนสินศักดิ์. (2556). การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างแบบดั้งเดิม และการก่อสร้างแบบผนังหล่อประกอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างของหมู่บ้านจัดสรร. วิทยานิพนธ์ สาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี4 www.dsphomesolutions.com
5,6 ศุภณัฐ วัฒนสินศักดิ์. (2556). การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างแบบดั้งเดิม และการก่อสร้างแบบผนังหล่อประกอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างของหมู่บ้านจัดสรร. วิทยานิพนธ์ สาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ www.dsphomesolutions.com
7 www.pruksa.com
8 สมชาย เจียมธีรสกุล. (2557, มิถุนายน) ข้อดีและข้อด้อยของผนังอิฐมวลเบา. Home Buyers Guide, 21 (259), 145 บ้านพรีคาสท์เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้การสร้างที่อยู่อาศัยสะดวก และแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เพราะช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งลดมลภาวะทางเสียง ฝุ่น และปัญหาการจราจรในสถานที่ก่อสร้างได้เป็นอย่างดี และการเลือกใช้ระบบพรีคาสท์มาสร้างบ้านยังช่วยลดความรำคาญใจจากฝีมือช่างที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย
การสร้างบ้านสำเร็จรูปก็เหมือนกับสินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ ค่ะ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ประโยชน์ และเป็นนวัตกรรมการสร้างบ้านแบบใหม่ซึ่งมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ทาง CheckRaka.com ก็หวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจมากขึ้นกับบ้านระบบนี้ และมั่นใจได้ว่าการสร้างบ้านสำเร็จรูปแบบนี้นั้น มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ในหลายๆ เรื่อง และถือเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งในการสร้างบ้านในยุคนี้ค่ะ