ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้ชีวิตของผู้ที่อยู่ในคอนโดจะมีปัญหามามากมายกว่าผู้ที่อาศัยอยู่บ้าน ด้วยความที่เป็นอาคารรวมหลายๆ ห้อง และห้องติดๆ กัน ทำให้ปัญหาต้นๆ ของการอยู่ในคอนโดเลยก็คือเรื่อง "เสียงดังรบกวน" นี่เองค่ะ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่มันก็มีลิมิตของมันอยู่ค่ะ ไม่ใช่ว่าใครจะทำเสียงดังอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีรับมือกับเสียงอันน่ารำคาญใจเหล่านั้น ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง หากมีเสียงดัง หรือเสียงรบกวนเราภายในคอนโด
เสียงรบกวนภายในคอนโด เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
โดยปกติแล้ว มนุษย์เราจะได้ยินเสียงระดับความดังเริ่มต้นที่ 10 - 20 เดซิเบล (dB) ระดับเสียงในการสนทนาจะอยู่ที่ 40 - 60 dB และระดับเสียงที่กรมอนามัยโลกระบุว่าเป็นอันตรายต่อหู คือเสียงในระดับ 85 dB ขึ้นไป เทียบได้กับเสียงเครื่องจักรที่อยู่ในโรงงาน หรือเสียงเครื่องยนต์สัญจรบนท้องถนน อย่างไรก็ตามเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในคอนโดนั้น เกิดได้จากเหตุการณ์หลายๆ อย่างด้วยกัน ทั้งที่เกิดจากคน หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังต่อไปนี้ค่ะ
เสียงรบกวน ที่เกิดจากคน เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในคอนโดนั้นเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์หลายๆ อย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เสียงจากการเปิดทีวี หรือเพลงเสียงดัง, เสียงคนตะโดนคุยกันเสียงดัง, เสียงทะเลาะเบาะแว้ง, เสียงเครื่องมือก่อสร้างจากการต่อเติม ตกแต่งห้อง เสียงเด็กร้องเสียงดัง และเสียงอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่จะเป็นการรบกวนผู้อื่น
เสียงที่เกิดขึ้นเองจากโครงสร้างอาคาร นอกจากจะเป็นเสียงที่เกิดจากคนแล้ว ยังสามารถเกิดเสียงได้จากธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน เช่นเสียงแรงดันของท่อน้ำในผนังคอนโด (Water Hammer) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของท่อน้ำที่ฝังอยู่ในผนังคอนโดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและฉับพลันทำให้เกิดเสียงดังกังวาลเหมือนเสียงค้อนทุบอยู่ที่ผนัง สามารถแจ้งนิติเพื่อให้ช่างมาแก้ไขเรื่องนี้ได้
อีกเสียงนึงก็มักจะเกิดขึ้นได้เช่นกันคือ เสียงที่เกิดจากการยืดหดตัวของโครงสร้างอาคาร ในเวลากลางวัน ช่วงอากาศร้อนมีการยืดตัว แต่พอตกกลางคืนอากาศเริ่มเย็นก็จะหดตัว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้เกิดเสียงดังขึ้นมา
เสียงที่ไม่รู้ที่มา มีอีกหลายเสียงที่พูดคุยกันใน pantip.com ถึงเสียงที่ไม่รู้ที่มา หาต้นตอไม่ได้ ซึ่งถ้าเจอเสียงเหล่านี้ก็ยากที่จะจัดการ หรือแก้ไข แต่คิดว่าในทุกเสียงที่เกิดขึ้นย่อมมีที่มา เพียงแต่เราอาจจะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจจะเป็นได้ทั้งเสียงที่เกิดจากคนข้างๆ ห้อง หรือห้องด้านบน หรือเป็นเสียงที่เกิดจากตัวอาคารเอง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เราสามารถไปปรึกษากับทางนิติ และขอความคิดเห็นจากเจ้าของร่วมท่านอื่นๆ ว่าประสบปัญหาเดียวกันหรือไม่ เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้ค่ะ
วิธีรับมือกับเสียงรบกวนภายในคอนโด
1. มองหาที่มาของเสียง
ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าเสียงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเสียงของอะไร เกิดขึ้นจากตรงไหน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการไปแจ้งนิติ บอกให้ทางนิติทราบว่าเกิดเสียงรบกวนแบบนี้ๆ อยู่ตลอดเวลา หรือบ่อยครั้งจนเป็นการรบกวนเรา ซึ่งถ้าเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากห้องใกล้เคียง ที่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ จะทำให้จัดการกับปัญหาได้มากขึ้น แต่ถ้าหากไม่ทราบที่มาจริงๆ ก็อาจจะไปบอกกับนิติด้วยข้อมูลคร่าวๆ ก่อนก็ได้ค่ะ
2. ร้องเรียนไปที่นิติ
จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปร้องเรียนกับทางนิติ สมมติในกรณีที่เราได้ยินเสียงเหมือนมีคนตำครกในช่วงเย็นของทุกวันจากห้องด้านบนสะเทือนมาถึงด้านล่าง ก็อาจจะไปแจ้งกับนิติได้ว่า มีเสียงโป๊กๆ ดังขึ้นทุกเย็นๆ ซึ่งเป็นเสียงที่รบกวนเรา อาจจะให้นิติไปเตือนกับห้องด้านบน เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อเสียงเหล่านั้น หรือหาทางทำให้เสียงนั้นเบาลง หรือในกรณีอื่นๆ ก็สามารถแจ้งด้วยข้อมูลที่เรามี ณ ตอนนั้นได้เลย ซึ่งเป็นหน้าที่ของนิติที่ต้องคอยจัดการให้ลูกบ้านนั้นอยู่กันอย่างสงบสุขอยู่แล้ว
อีกอย่างในกรณีที่มีเสียงรบกวนที่ไม่ได้เกิดจากบุคคล หรือเพื่อนร่วมคอนโด แต่เป็นเสียงที่เกิดจากการทำงานของท่อน้ำภายในคอนโด เคยมีเคสที่เกิดเสียงลำเลียงน้ำจากท่อน้ำภายในคอนโด เป็นเสียง บุ๋งๆ ซึ่งค่อนข้างดัง อันนี้เราก็สามารถไปแจ้งนิติได้เช่นกันค่ะ
3. ตักเตือนด้วยตัวเอง
มีความเป็นไปได้เสมอที่จะมีลูกบ้านไม่ฟังเสียงตักเตือนจากนิติ และนิติเองก็ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ทำให้ยังคงมีเสียงที่คอยรบกวนเราอยู่ อีกวิธีที่พอทำได้ก็คือการตักเตือนด้วยตัวเองเลย ในกรณีที่เสียงเกิดจากห้องด้านบน เมื่อถึงเวลาที่เสียงนั้นเกิดขึ้น เราอาจจะขึ้นไปเคาะห้องแล้วแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และขอความร่วมมือ เจรจากันซึ่งๆ หน้าเพื่อให้อยู่กันอย่างสงบสุขให้ได้
4. ส่งจดหมาย หรือแปะโน้ต ขอความร่วมมือ
เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า อีกวิธีที่พอทำได้ก็คือการส่งจดหมายขอความร่วมมือ แล้วหย่อนไปในตู้จดหมายของห้องนั้นๆ หรือจะเป็นการเขียนโน้ตแล้วไปแปะไว้หน้าห้องของคู่กรณีก็ได้เช่นกัน วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเรื่องกันได้ ซึ่งถ้าผู้ที่มีสามัญสำนึกย่อมต้องเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองได้ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
5. ทำผนังกั้นเสียง
ท้ายที่สุด ถ้าหากแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็อาจจะต้องมาจัดการที่ห้องเราแทน ด้วยการติดตั้งผนังกันเสียง ซึ่งก็จะช่วยลดเสียงที่เกิดจากเสียงรบกวนจากภายนอก และยังกันเสียงเราออกจากห้องไปรบกวนคนอื่นได้อีกด้วย หากใครสนใจสามารถอ่านได้ที่นี่
ทำผนังกันเสียงรบกวนจากข้างบ้าน ด้วยวัสดุอะคูสติก เอสซีจี รุ่น Cylence Zoundblock ในแง่กฏหมาย ทำอะไรได้บ้าง ?
นอกเหนือจากวิธีรับมือดังกล่าวไปด้านบนนั้นแล้ว เรายังสามารถใช้กฏหมายมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียงรบกวนเหล่านั้นเป็น "มลพิษทางเสียง" ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เราถึงจะใช้กฏหมายนี้คุ้มครองสิทธิที่ถูกรบกวนได้
"มลพิษทางเสียง" คือเสียงที่ก่อให้เกิดความรำคาญ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตแก่มนุษย์
เมื่อเราได้ยินเสียงดังที่เป็นการรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเปิดเพลงดัง เสียงตะโกนคุยกัน เสียงทะเลาะเบาะแว้ง อันเป็นเหตุให้เกิด มลพิษทางเสียง และเราได้แจ้งไปยังนิติให้ดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราสามารถแจ้งไปที่ เจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่น ให้เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ได้ โดยใช้กฏหมาย "มลพิษทางเสียง" ตาม พรบ. สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ว่านี้ โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะมีอำนาจในการออกคำสั่งให้ระงับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะถ้าหากเป็นยามวิกาลที่เป็นการรบกวนการนอนหลับพักผ่อน ถ้าหากมีการเตือนแล้วแต่ยังไม่ทำตาม โดยไม่มีเหตุผลอันควร อาจจะต้องได้รับโทษจำคุก หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาทได้