ไขความลับค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมหากคิดจะซื้อบ้านและคอนโด
ใครที่กำลังวางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย แต่ยังไม่ทราบว่าในการจะซื้อบ้านหรือคอนโดนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วเงินแต่ละส่วนนั้นจะต้องจ่ายตอนไหน วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ ไปดูกันว่าค่าใช้จ่ายเบื้องต้นนอกจากเงินค่างวดที่ต้องเตรียมไว้จ่ายในทุกๆ เดือนแล้วนั้น ยังมีค่าใช่จ่ายส่วนอื่นๆ ที่ควรเตรียมไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินสดอะไรบ้าง ป้องกันปัญหาหมุนเงินไม่ทัน เงินสดไม่พอจ่ายในอนาคต
เงินจอง : เมื่อเราตัดสินใจจะซื้อบ้านหรือคอนโดแล้ว เราจะต้องจ่ายเงินจองเพื่อรับประกันว่าเราจะซื้อบ้านหรือคอนโดห้องนั้นชัวร์ โดยเงินจองจะแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละโครงการ
เงินทำสัญญา : หลังจากจ่ายเงินจองไปประมาณ 7-14 วัน ผู้ขายจะติดต่อนัดให้เข้าไปทำสัญญาจะซื้อจะซื้อขาย โดยระบุรายละเอียดต่างๆ ที่เราควรอ่านให้ครบถ้วนก่อนชำระเงินทำสัญญา
เงินดาวน์ : การจ่ายเงินดาวน์ระหว่างบ้านและคอนโดจะมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย โดยการซื้อบ้าน เงินดาวน์จะมีตั้งแต่ 5% - 10% ของราคาบ้าน ส่วนคอนโดจะอยู่ที่ 10 - 15 % ของราคาคอนโด ถ้าเป็นโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้ซื้ออาจจะวางเงินดาวน์เป็นก้อนทีเดียว หรือแบบแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ก็ได้ตามเงื่อนไขโครงการ
ค่าจดจำนอง : คิดเป็น 1% ของมูลค่าบ้านหรือคอนโดที่จดจำนอง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (มาตรการใหม่เหลือ 0.01% ในปี 2564) ในวันโอนกรรมสิทธิ์ เป็นการจ่ายให้กับสำนักงานที่ดินเพื่อเอาบ้านหรือคอนโดเป็นหลักประกันหนี้ให้กับธนาคาร ในกรณีที่มีการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่หากซื้อเงินสดก็ไม่ต้องเสียค่าจดจำนองในส่วนนี้
ค่าธรรมเนียมการโอน : ค่าธรรมเนียมการโอนจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือราคาขาย โดยส่วนใหญ่จะแบ่งกันจ่ายคนละครึ่งหรือประมาณ 1% ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (มาตรการใหม่เหลือ 0.01% ในปี 2564)
ค่าอาการสแตมป์ : สำหรับการจดทะเบียนโอน กรมที่ดินจะเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.5% ของราคาซื้อขาย ซึ่งปัจจุบันรัฐได้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน จากเดิม 2% เป็น 0.01% และค่าจดจำนอง จากเดิม 1% เป็น 0.01% สำหรับการซื้อขายที่ดินและอาคารที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด คอนโด ทาวน์โฮม มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขต้องโอนและจดจำนองพร้อมกัน มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ค่าส่วนกลาง : จะคำนวณตามพื้นที่ใช้สอย หน่วยเป็นตารางเมตรของห้องชุด หรือถ้าเป็นหมู่บ้าน มักจะคำนวณตามพื้นที่เป็นตารางวาของบ้าน ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับการตั้งราคาของแต่ละโครงการ เช่น คอนโด 35 ตารางเมตร มีค่าส่วนกลางราคา 40 บาท/เดือน/ตร.ม. ค่าส่วนกลางที่เราต้องจ่าย คือ 35 (ขนาดห้องตารางเมตร) x 40 (ค่าส่วนกลาง) x 12 (1 ปี) = 16,800 บาทต่อปี
ค่ากองทุน : ทางนิติบุคคลจะเรียกเก็บไว้เป็นกองทุนสำรอง สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายกองกลางในการบริหารจัดการในโครงการในระยะยาว โดยจะคำนวณตามพื้นที่ของห้อง เช่น ค่ากองทุน 500 บาทต่อตารางเมตร หากห้องชุด 30 ตารางเมตร เท่ากับเราต้องจ่ายให้โครงการ 15,000 บาท เป็นการชำระครั้งเดียวเท่านั้น
ค่าประกันติเตอร์ไฟ : ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจมีทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ ค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า รวมๆ กันจะอยู่ที่หลักพันจนถึงหลักหมื่น แต่ปัจจุบันโครงการมักจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ก่อน และอาจมีการเรียกเก็บภายหลัง
ค่าตกแต่งบ้าน : หลังจากที่เราซื้อบ้านหรือคอนโดแล้วแน่นนอนว่ายังไม่สามารถเข้าอยู่ได้เลย เพราะบางโครงการก็ไม่ได้ตกแต่งมาให้สำหรับพร้อมเข้าอยู่ ดังนั้นค่าตกแต่งจึงเป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมสำรองไว้ สำหรับตกแต่งเพื่อให้ได้ห้องสวยงามตามสไตล์ที่เราต้องการ
ค่าประกันอัคคีภัย และค่าประกันภัยพิบัติ : ค่าประกันอัคคีภัย เป็นประกันที่คุ้มครองความปลอดภัยของตัวบ้าน ในกรณีเกิดไฟฟ้าลัดวงจร แก๊สรั่ว ไฟไหม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำ โดยยอดจะอยู่ที่ 0.1% ของราคาบ้าน และควรพิจารณาประกันภัยพิบัติไว้เป็นทางเลือกเสริม เพราะแม้ไม่ได้บังคับให้ทำ แต่อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ในกรณีที่เกิดอุทกภัย แผ่นดินไหวได้