'โฟล์คสวาเกน' กับกลโกงที่โดนจับได้
ข่าวใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องข่าวของโฟล์คสวาเกนที่โดนจับได้ว่าโกงการทดสอบมลพิษของรถเครื่องยนต์ดีเซลในสหรัฐอเมริกา และในเวลาไล่เลี่ยกันผู้บริหารของโฟล์คสวาเกนก็ออกมายอมรับ และแสดงรับความผิดชอบโดยการลาออก แต่ผลกระทบคงไม่ได้จบที่การลาออกของเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ยังส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ เพราะนอกจากจะโดนปรับเป็นเงินมหาศาลและส่งผลต่อตลาดหุ้นแล้ว ทั้งโลกยังรอการเปิดโปงขบวนการภายในองค์กรที่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานานว่ามีต้นสายปลายเหตุจากใครบ้าง นอกจากนี้ยังสร้างกระแสให้หลายประเทศตื่นตัวและเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการทดสอบมลพิษ
โฟล์คสวาเกนโดนกล่าวหาเรื่องอะไร ?
การปรับแต่งภายในด้วยอุปกรณ์บางอย่างเพื่อโกงการทดสอบค่ามลพิษในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการรายงานของ Environmental Protection Agency (EPA) พบว่ารถเครื่องยนต์ดีเซลบางคันติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่างไว้ เมื่อมีการทดสอบก็จะปรับค่าเพื่อให้ผ่านการทดสอบ และเมื่อนำไปใช้งานจริงบนถนนก็จะคืนค่าที่ตั้งไว้เพื่อเน้นสมรรถนะเป็นหลัก
อุปกรณ์จอมโกงทำงานตามค่าที่อ่านได้
รายละเอียดการทำงานของเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ทาง EPA แค่บอกว่า ปกติเครื่องยนต์มีซอฟต์แวร์ที่อ่านค่า ความเร็ว, การทำงานของเครื่องยนต์, แรงดันอากาศ หรือแม้แต่องศาการหมุนของพวงมาลัย ซึ่งค่าเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ารถกำลังวิ่งอยู่บนถนนจริงหรือในห้องทดสอบ ดังนั้นเมื่อรถอยู่ในระหว่างการทดสอบภายในสถานที่ปิด เช่น การทดสอบมลพิษ อุปกรณ์จอมโกงก็สามารถรับรู้ได้จากค่าต่างๆ เหล่านี้ แล้วจึงปรับให้เครื่องยนต์ทำงานแบบเซฟตี้โหมด กำลังรถจะถูกลดทอนลงเพื่อเน้นการปล่อยไอเสียให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และเมื่อกลับไปวิ่งบนถนน ค่าที่อ่านก็จะเปลี่ยนไป อุปกรณ์จอมโกงก็จะปรับคืนความแรงให้ ซึ่งทำให้ค่าไนโตรเจนอ๊อกไซด์สูงกว่าที่กำหนด 40 เท่า ! (เทียบเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกา)
โฟล์คสวาเกนเสียหายขนาดไหน ?
เรื่องแบบนี้ย่อมเสมือนโดนทุบด้วยค้อนขนาดใหญ่ ด้าน มร.ไมเคิ่ล ฮอร์น นายใหญ่ของโฟล์คสวาเกนอเมริกาบอกว่า "พวกเราจบสิ้นทุกอย่าง" ขณะที่ CEO มร.มาร์ติน วินเทอร์คอร์น บอกว่า "เราได้ทำลายความไว้วางใจของลูกค้าและสาธารณะชน" ล่าสุด โฟล์คสวาเกน เรียกคืนรถทั้งหมดในสหรัฐฯกว่า 5 แสนคัน เป็นค่าใช้จ่ายราว 263,237,975,000 บาท แต่ผลกระทบด้านการเงินไม่ได้จบแค่นี้ เพราะต้องโดนทาง EPA ปรับเป็นเงินอีกคันละ 1,357,006 บาท โดยมูลค่าสูงสุดราว 65,136,327,894 บาท ส่วนด้านกฎหมายที่ต้องโดนจากผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นก็จะมีตามมาอีก
ปัญหาของโฟล์คสวาเกนเกิดเฉพาะในสหรัฐฯ ?
ไม่แน่นอน ล่าสุดหลายประเทศ เช่น อิตาลี, ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ กำลังเริ่มทำการสอบสวน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้นักการเมือง, นักกฎหมาย และกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ พากันตั้งคำถามถึงผลการทดสอบมลพิษของรถโฟล์คสวาเกน แม้ว่ามีการรีคอลรถในเครือโฟล์คเฉพาะที่สหรัฐฯ แต่จริงๆ คาดว่ามีรถโฟล์คสวาเกนดีเซลกว่า 11 ล้านคัน ที่อาจเกี่ยวข้อง ดังนั้นการรีคอลอาจมีอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายกว่าครึ่งเป็นตลาดรถยุโรป ทำให้หุ้นของบริษัทฯ ร่วงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 วัน นับตั้งแต่มีข่าวออกมา
CEO มร.มาร์ติน วินเทอร์คอร์น ลาออกก่อนคนแรก แต่กระนั้นเขาก็ปฎิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และยังคงไม่มีความชัดเจนว่าใครรู้และทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามทางโฟล์คสวาเกน ย่อมต้องมีสายงานบริหารที่สามารถสั่งการอนุมัติให้ติดอุปกรณ์จอมโกงที่ว่านี้ ดังนั้นการลาออกของ CEO ย่อมไม่จบเรื่องการหาบุคคลที่รับผิดชอบ และการตรวจสอบภายในยังคงเนินการต่อไป จริงๆ ในปี 2014 เคยมีเจ้าหน้าที่ยกประเด็นเรื่องระดับมลพิษที่น่ากังวลของรถโฟล้คสวาเกนมาแล้ว แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค และค่าอาจเปลี่ยนเพราะตัวแปรต่างๆ ตามการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง ถ้าผู้บริหารรู้และตั้งใจเพิกเฉยต่อประเด็นนี้ ก็อาจเป็นเรื่องยากต่ออนาคตการทำธุรกิจขององค์กรต่อไป
ฟอร์ด บีเอ็มดับเบิ้ลยู และ เรโนลต์-นิสสัน ออกมาปฎิเสธถึงการใช้อุปกรณ์จอมโกงดังกล่าว ขณะที่ผู้ผลิตรถรายอื่นยังปิดปากเงียบ ในยุโรปวิธีการการทดสอบค่ามลพิษของเครื่องยนต์ นั้นค่อนข้างเก่าและล้าสมัย ล่าสุดทางผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมหาข้อตกลงและวิธีทดสอบแบบใหม่ เพื่อให้มีความสมจริงและสอดคล้องการกับใช้งานจริงบนถนนมากขึ้น จริงๆ รถเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรปส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีมลพิษสูงเกินกำหนดทั้งสิ้น นั่นหมายถึง รถจำนวนล้านกว่าคัน ด้วยวิธีการทดสอบที่ล้าสมัย จึงทำให้อุปกรณ์จอมโกงไม่มีความจำเป็น แต่จากนี้ไปอาจทำให้การตรวจสอบและทดสอบค่ามลพิษของเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรปเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิม
ผลกระทบต่อตลาดรถเครื่องยนต์ดีเซล
กว่าทศวรรษที่ผู้ผลิตรถหันมาเน้นการทำรถเครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยความเชื่อว่าดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่จากหลักฐานทางวิทยศาสตร์ล่าสุดบอกว่าไม่ใช่เสมอไป จึงทำให้บางประเทศจำกัดปริมาณรถเครื่องยนต์ดีเซลจริงๆ ตลาดรถเครื่องยนต์ดีเซลเติบโตอย่างช้าๆ มาสักพัก ข่าวฉาวของโฟล้คสวาเกนยิ่งเป็นการทำให้ตลาดยิ่งชะลอตัว ในสหรัฐฯ ส่วนแบ่งของรถใหม่เป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และมีแนวโน้มคงที่ไปอีกนาน
ปีหน้าจะเป็นปีที่ประเทศไทยใช้ค่า CO2 เป็นตัวแปรหลักในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ หลายผู้ผลิตจึงทยอยพัฒนาและปรับปรุงให้ค่ามลพิษต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่รถเครื่องยนต์ดีเซลย่อมมีค่ามลพิษสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ และมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีเพิ่ม ส่งผลถึงราคาขายที่อาจปรับเพิ่มด้วย อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องการจัดเก็บเงินภาษี แต่การใช้งานจริง บ้านเรายังคงเต็มไปด้วยรถเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยมลพิษสูงกว่ามาตรฐานอาจเป็นร้อยเท่า ตัวอย่างคงมีให้เห็นกันบนถนนทุกวันอยู่แล้ว !