ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องความสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีลักษณะการทำงาน และข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบไหน สิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผู้ใช้รถ คือ การทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับรถยนต์ วันนี้…เราจะมาดูรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภท และรูปแบบการทำประกันภัยที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทกันค่ะ
4 ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า
🚗1. รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles - BEV)
เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งตัวแบตเตอรี่จะถูกชาร์จไฟจากแหล่งจ่ายไฟภายนอก เช่น สถานีชาร์จไฟหรือปลั๊กไฟบ้าน ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ BEV คือ ไม่มีการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิง และการบำรุงรักษา แต่ก็ยังมีข้อเสีย คือ ระยะทางการขับขี่จำกัดตามความจุของแบตเตอรี่ และใช้เวลาชาร์จไฟนาน
🚗2. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles - HEV)
เป็นรถยนต์ที่ใช้ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน และมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยเสริมแรงให้กับเครื่องยนต์ในบางสถานการณ์ และสามารถชาร์จแบตเตอรี่จากการเบรกได้ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมีข้อดี คือประหยัดน้ำมันมากขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียว และไม่ต้องชาร์จไฟจากแหล่งภายนอก แต่ข้อเสีย คือ ยังมีการปล่อยมลพิษ และต้องการการบำรุงรักษาทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า
🚗3. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicles - PHEV)
เป็นรถยนต์ที่ใช้ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน และมอเตอร์ไฟฟ้าเหมือน HEV แต่สามารถชาร์จแบตเตอรี่จากแหล่งไฟภายนอกได้ ทำให้สามารถขับขี่โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในระยะทางสั้นๆ ได้ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอินมีข้อดี คือ สามารถขับขี่ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในระยะทางที่กำหนด ช่วยลดการใช้น้ำมัน และการปล่อยมลพิษ แต่ยังมีข้อเสีย คือ ต้องชาร์จไฟบ่อยๆ หากต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
🚗4. รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles - FCEV)
เป็นรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ไฮโดรเจน และออกซิเจนจากอากาศ ปล่อยน้ำเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ การชาร์จใช้การเติมไฮโดรเจนแทนการชาร์จแบตเตอรี่ ข้อดี คือ ไม่มีการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย และเวลาการเติมไฮโดรเจนรวดเร็วเหมือนการเติมน้ำมัน แต่มีข้อเสีย คือ ขาดแคลนสถานีเติมไฮโดรเจน ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฮโดรเจนยังสูงอยู่ และเทคโนโลยียังอยู่ในระยะพัฒนา
การทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า
การทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีความสำคัญเช่นเดียวกับการทำประกันรถยนต์ทั่วไป เราสามารถประเภทการประกันภัยตามระดับความคุ้มครองหลักๆ ได้ดังนี้
1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) : เป็นประกันภัยขั้นต่ำที่รถทุกคันต้องทำตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะครอบคลุมการคุ้มครองบุคคลภายนอกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ :
- ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 : เป็นประกันภัยคุ้มครองครอบคลุมที่สุด คือคุ้มครองทั้งการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การซ่อมแซมแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น
- ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ และ 3+ : ให้ความคุ้มครองลดหลั่นลงมาจากประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 โดยจะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุ และการโจรกรรม รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับรถยนต์ไฟฟ้า
- ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 และ 3 : จะให้ความคุ้มครองน้อยลงมา โดยให้ความคุ้มครองการสูญหาย และความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมอุบัติเหตุอื่นๆ
สรุปแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภทให้เลือกตามความต้องการ และรูปแบบการใช้งาน ในส่วนของการเลือกทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะสม จะช่วยให้เรามั่นใจในการขับขี่ และอุ่นใจกับการคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับรถยนต์ ที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ