10 ความเข้าใจผิดในการขับรถ
ผู้ขับขี่รถยนต์นอกจากจะต้องฝึกฝนให้มีความชำนาญและฝึกทักษะในการขับให้ถูกต้องปลอดภัยแล้ว พฤติกรรมอื่นๆ ที่ตามมาเนื่องจากการใช้รถใช้ถนนก็ย่อมต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องอีกด้วย มาดูว่า 10 ความเข้าใจที่ผิดในการขับรถยนต์บนท้องถนนนั้นมีอะไรบ้าง
1. เปิดไฟผ่าหมากผ่านแยกหรือฝนตกหนัก
การเปิดไฟฉุกเฉินหรือไฟเลี้ยว 2 ข้างพร้อมกันในขณะขับผ่านทางแยกหรือ 4 แยก และเมื่อฝนตกหนักๆ นั้น นับเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะวัตถุประสงค์ของไฟฉุกเฉินนั้น ให้เปิดในกรณีมีเหตุอันควร หรือการจอดฉุกเฉิน รถเสีย เป็นต้น เมื่อเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อต้องการขับตรงไปใน 4 แยก รถทางฝั่งที่เห็นสัญญาณไฟจะมองได้ฝั่งเดียว จึงอาจเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเลี้ยวตามทิศทางนั้น ส่วนในกรณีฝนตกหนัก หากเปิดไฟฉุกเฉินไว้ เมื่อต้องการจะเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยว ก็อาจทำให้รถที่ขับตามหลังหรือใกล้เคียงไม่เข้าใจและก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
เมื่อต้องการขับตรงผ่าน 4 แยกไปให้หยุดรถ และเมื่อเห็นว่าปลอดภัยค่อยเคลื่อนรถออกไปโดยไม่จำเป็นต้องเปิดสัญญาณใดๆ และกรณีฝนตกหนักไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินวิ่ง เพียงแค่พยายามชิดซ้าย ชะลอความเร็ว เปิดไฟหน้า หรือหากมองไม่เห็นทางจริงๆ ก็ให้หาที่ปลอดภัยจอดรอให้ฝนหยุดก่อนจะปลอดภัยกว่า
2. ถึงวงเวียนก่อนไปก่อน
ความจริงเมื่อขับรถมาถึงวงเวียน หากอยู่ในวงเวียนแล้ว สามารถไปก่อนได้หากดูแล้วว่าปลอดภัย แต่เมื่อขับมาจากทางแยกอื่นที่อยู่นอกวงเวียน ควรลดความเร็วและหยุดให้รถในวงเวียนไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงสามารถขับต่อไปได้
ลักษณะ ๖ การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกหรือวงเวียน "มาตรา ๗๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๖ เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยก ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้ (๑) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน (๒) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน (๓)๑๘ ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้"
"มาตรา ๗๓ ในกรณีที่วงเวียนใดได้ติดตั้งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้น ถ้าไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงวงเวียน ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถอยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน"
3. ขับเร็วตามกำหนดวิ่งขวาได้
ตามปกติแล้วถนนทุกสายมักให้ใช้ความเร็วไม่เกิดกฎหมายกำหนดตั้งแต่ 60 กม./ชม. จนถึง 120 กม./ชม. ขึ้นกับเขตหรือว่าลักษณะถนนต่างๆ ซึ่งเราก็มักจะเห็นว่ารถยนต์บ้างคันขับชิดขวาตลอดทาง แม้ข้างหน้าว่างหรือแซงรถทางด้านซ้ายพ้นแล้วก็ตาม ยังคงแช่ขวาอยู่ การขับรถแช่ขวานั้นผิดหรือไม่ตอบว่า "ผิด" ในแง้กฎหมาย กำหนดว่า "รถช้ากว่าคันอื่นชิดซ้าย" หมายความยว่า หากรถคันที่วิ่งขวาอยู่ใช้ความตามกฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม เมื่อเห็นว่าทางด้านซ้ายว่างก็ควรกลับเข้าสู่ช่องทางซ้ายเสมอ ดังนั้นเมื่อเจอรถที่กำลังจะแซงขึ้นหน้าไปใช้ความเร็วสูงกว่าที่กำหนดก็จะจับปรับตามกฎหมายไปเอง
การขับแช่เลนขวาหรือเลนกลาง โดยเฉพาะใช้ความเร็วต่ำกว่ารถที่อยู่ช่องทางด้านซ้ายสุด นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เช่นกัน เพราะรถคันที่ต้องการแซงขึ้นหน้าจะต้องกลับมาแซงช่องทางถัดไปด้านซ้ายหรือไหล่ทาง จึงทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมากขึ้นไปอีก เมื่อแซงเสร็จก็ควรกลับเข้าช่องทางซ้ายเสมอ เพื่อเปิดช่องว่างให้รถที่ต้องการแซงคันอื่นๆ ใช้ทางด้วย อย่างไรก็ตามการขับรถเร็วเกิดกำหนดก็ผิดกฎจราจรและก็จะถูกบันทึกภาพจับ,ปรับตามมา
"มาตรา ๓๕๗ รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี"
4. แซงไหล่ทาง
ข้อนี้อันตรายหนักมาก...เพราะไหล่ทางเป็นช่องทางสำหรับรถฉุกเฉิน, รถเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือว่ารถจอดเสียชั่วคราวใช้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อรถที่ออกจากฝั่งซ้าย, รถที่มาจากทางขวาเพื่อเบี่ยงซ้ายเข้าถนนย่อยหรือซอยที่อาจมองไม่เห็น
แม้ว่าการจราจรปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่จราจรได้แก้ปัญหาด้วยการให้วิ่งไหล่ทางได้ในช่วงเวลาเร่งด้วยรถติดมากๆ แต่ก็ไม่อนุญาติให้วิ่งตลอดเวลา ให้ใช้เฉพาะบางเวลาเท่านั้น หากสภาพการจราจรคลี่คลายคล่องตัวแล้วก็ไม่ควรใช้ไหล่ทางวิ่งต่อไป
หมวด ๒ การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า "มาตรา ๔๔๑๔ ผู้ขับขี่ซึ่งประสงค์จะขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในทางเดินรถ ซึ่งไม่ได้แบ่งช่องทางเดินรถไว้ ต้องให้สัญญาณโดยกระพริบไฟหน้าหลายครั้ง หรือให้ไฟสัญญาณยกเลี้ยวขวา หรือให้เสียงสัญญาณดังพอที่จะให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถคันหน้าให้สัญญาณตอบตามมาตรา ๓๗ (๓) หรือมาตรา ๓๘ (๓) และเมื่อเห็นว่าไม่เป็นการกีดขวางรถอื่นที่กำลังแซงแล้ว จึงจะแซงขึ้นหน้าได้"
"มาตรา ๔๙ เมื่อได้รับสัญญาณขอแซงขึ้นหน้าจากรถคันที่อยู่ข้างหลัง ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่ใช้ความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถอื่นที่ขับไปในทิศทางเดียวกันต้องยอมให้รถที่ใช้ความเร็วสูงกว่าผ่านขึ้นหน้า ผู้ขับขี่ที่ถูกขอทางต้องให้สัญญาณตอบตามมาตรา ๓๗ (๓) หรือมาตรา ๓๘ (๓) เมื่อเห็นว่าทางเดินรถข้างหน้าปลอดภัยและไม่มีรถอื่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด และต้องลดความเร็วของรถและขับรถชิดด้านซ้ายของทางเดินรถเพื่อให้รถที่จะแซงผ่านขึ้นหน้าได้โดยปลอดภัย"
5. แฟชั่นใหม่...เปิดไฟตัดหมอกตลอดเวลา
แฟชั่นใหม่สำหรับใครหลายคนที่ชอบเปิดไฟตัดหมอกวิ่งตลอดเวลาไม่ว่าด้านหน้าหรือด้านหลังรถ นับว่าผิดกฎหมายนะครับ!.. เพราะเป็นการรบกวนสายตารถที่วิ่งสวนทางมาและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟตัดหมอกควรเปิดเฉพาะเวลาที่ทัศนะวิสัยไม่ดี เช่น มีหมอกหรือควันหนา ฝนตกหนักๆ หรือขับขี่ในทางมืดๆ ที่ไม่มีรถสวนทางมา เป็นต้น
"หากจะติดไฟสปอตไลต์โคมไฟจะต้องไม่พุ่งแบบกระจายวงกว้างหากมีการติดแบบกระจายวงกว้างแม้จะมีฝาครอบก็ถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟตัดหมอกมีลักษณะเป็นไฟแสงพุ่งต่ำ ซึ่ง พ.ร.บ.ปีพ.ศ. 2536 อนุญาตให้รถยนต์ติดไฟสปอตไลต์หรือไฟตัดหมอกเพิ่มได้ ข้างละ 1 ดวงจากเดิมติดเพียงข้างเดียว แต่จะต้องติดในระดับแนวเดียวกันความสูงจากพื้นถนนไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร และไม่สูงกว่า 135 เซนติเมตรต้องเป็นแสงสีเหลืองหรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ และจะต้องติดตั้งให้ตรงไม่เฉไปข้างใดข้างหนึ่งสำหรับการเปิดไฟตัดหมอกนั้นทำได้เมื่อมีอุปสรรคในการขับขี่ เช่น มีหมอกควันหรือฝนตกหนัก มองเห็นสิ่งกีดขวางหรือรถที่สวนทางมาในระยะไม่เกิน 150 เมตรถ้าติดไม่ถูกต้อง หรือเปิดไฟพร่ำเพรื่อมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาทดังนั้นผู้ใช้รถจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการติดตั้งไฟหน้ารถไฟตัดหมอกอย่างเคร่งครัดเพราะหากละเลยอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้" ที่มา www.dailynews.co.th
6. นั่งชิดพวงมาลัยมากๆ ขับรถได้ถนัดขึ้น
การนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป จะยิ่งทำให้การกะระยะรอบๆ ตัวรถนั้นยากมากขึ้น เพราะทัศนะวิสัยผู้ขับขี่จะเห็นชัดเจนในช่วงด้านหน้ารถถึงบริเวณระดับแนวเดียวกับที่นั่งขับอยู่เท่านั้น และสายตาจะไม่สามารถมองเห็นส่วนด้านข้างตัว เพราะระดับผู้นั่งร่นมาด้านหน้ามากเกินไป และทำให้มุมมองแคบลงกว่าผู้ที่นั่งในแนวระดับที่ถอยมาอยู่ใกล้เสากลางตัวรถ (B-Pilar) และยังทำให้การมองกระจกมองข้างต้องหันหรือละสายตาจากด้านหน้ารถมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณใบหน้า หน้าอก จากถุงลมนิรภัยที่ระเบิดออกมาเมื่อเกิดการชน ยิ่งทำให้อันตรายมากขึ้นไปอีก
7. พบรถฉุกเฉินอยู่นิ่งๆ เดี๋ยวก็แซงไปเอง
ภาพจาก gcn.com
เมื่อพบรถฉุกเฉิน รถพยาบาลหรือรถดับเพลิง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ให้สัญญาณไฟเลี้ยวในทิศทางที่ต้องการจะหลบ และเมื่อดูว่าปลอดภัย ต้องรีบหลบหรือเบี่ยง เพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรขับแช่ในช่องทางวิ่งเดียวกัน และรอให้รถฉุกเฉินแซงไปเอง เพราะว่าการที่รถฉุกเฉินต้องเปลี่ยนช่องทางบ่อยๆ อาจเกิดอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ภายในรถได้ นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องสังเกตุเหตุการณ์รอบๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง
"ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา76 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้รถใช้ถนน เดินเท้า ต่อรถพยาบาลจะต้องหลบ และหลีกให้พ้นผิวจราจรทางด้านซ้ายทันทีเมื่อได้ยินเสียงสัญ ญาณไซเรนหรือเห็นไฟวับวาบ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท"
8. เข้าเกียร์ว่างเมื่อไหลลงสะพานหรือใกล้หยุดรถ (เกียร์อัตโนมัติ)
ไม่ควรเข้าตำแหน่งเกียร์ว่างหรือ "N" ในเกียร์อัตโนมัติ เมื่อขับลงทางลาดชันหรือก่อนรถจะหยุดนิ่ง เพราะจะทำให้ภายในระบบชุดเกียร์เกิดการเสียหายเร็วกว่าปกติ เนื่องจากชุดเฟืองและชุดคลัตช์ภายในระบบเกียร์หมุนในความเร็วสูง แล้วถูกสั่งให้หยุดหมุนอย่างรวดเร็ว ระหว่างนั้นจะเกิดการเสียดสีขึ้นมากกว่าการปลดเกียร์ว่างที่ความเร็วต่ำ และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายในกรณีขับขี่ทางลงเขาหรือเนินชันมากๆ ระบบเบรคจะทำงานหนักจนเกิดความร้อนและประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้หากต้องการจะเร่งแซงอีกครั้งต้องเข้าตำแหน่ง "D" อีกครั้งยิ่งทำให้ชุดเกียร์สึกหรอมากกว่าปกติ จึงไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด
"มาตรา ๑๒๖ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ใช้เกียร์ว่างหรือเหยียบคลัทช์ในขณะที่ขับรถลงตามทางลาดหรือไหล่เขา"
9.ใส่เกียร์ "P" เมื่อติดสัญญาณไฟ (เกียร์อัตโนมัติ)
การจอดรถติดสัญญาณไฟแดงไม่ควรเข้าเกียร์ "P" เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียหายของระบบล็อคในชุดเกียร์ในกรณ๊ที่มีรถมาชนท้าย ทำให้ชุดเฟืองล็อคเลียหายและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นหากจอดติดไฟแดงก็ควรเลื่อนมาตำแหน่ง "N" และดึงเบรคมือไว้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนตำแหน่งเกียร์ "P" ใช้สำหรับจอดทิ้งไว้นานๆ ในที่จอดปลอดภัยและหากจอดรถในทางลาดชันให้ดึงเบรคมือจนรถจอดได้สนิทก่อนแล้วค่อยในตำแหน่ง "P" เพื่อเวลาปลดเกียร์ไปตำแหน่งอื่นๆ จะทำได้ง่ายกว่า เพราะระบบล็อคเฟืองในชุดเกียร์อยู่ในจังหวะที่ไม่ขัดตัวมากนัก แถมยังถนอมเกียร์ได้อีกด้วยนะครับ
10. ไม่ใช้เบรคแต่เลียคลัตช์เมื่อจอดทางลาดชัน (เกียร์กระปุก)
ในรถยนต์ที่ใช้เกียร์ธรรมดาหรือเกียร์กระปุก เมื่อจำเป็นต้องจอดติดสัญญาณไฟหรือรถติดบริเวณคอสะพานหรือทางลาดชัน ไม่ควรใช้การเลียคลัตช์ให้รถไม่ไหลถอยหลัง เนื่องจากจะทำให้ระบบคลัตช์สึกหรอมากขึ้นและเกิดความร้อนสะสมในระบบเกียร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการพุ่งไปชนรถคันหน้า
การขับรถในท้องถนนนั้นไม่ว่าจะมีประสบการณ์หรือขับขี่มานานหลายปีแล้วก็ตาม ยังมีอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันบริมาณรถยนต์เพิ่มมากขึ้น สมรรถนะสูงขึ้น ย่อมต้องปรับตัวให้เข้ากับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น แต่ยังคงต้องยึดหลักกฎจราจรอย่างเคร่งครัดมากขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญขับรถอย่า "หัวร้อน" มีน้ำใจและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน จะช่วยลดอุบัติเหตุได้มากขึ้นครับ