พวงมาลัยสั่น เกิดจากอะไร?
คุณเคยเจออาการเช่นนี้บ้างหรือเปล่า? พวงมาลัยสั่นเวลาใช้ความเร็ว ณ จุดๆ หนึ่ง, เบรกแล้วพวงมาลัยสั่น, ออกตัวแล้วพวงมาลัยสั่น, ตกหลุมแล้วพวงมาลัยกระเทือนและมีเสียงดัง... อาการต่างๆ เหล่านี้เป็นอาการบอกเหตุถึงชิ้นส่วนเคลื่อนไหวต่างๆ ของระบบช่วงล่างโดยเฉพาะด้านหน้าเริ่มจะกลับบ้านเก่าแล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากชิ้นส่วนที่หมดอายุการใช้งานหรือเกิดจากสภาพถนนที่ไม่เรียบจากการใช้งานประจำวัน ย่อมมีผลกระทบต่อระบบช่วงล่างโดยตรง เรามาดูกันครับว่า อาการสั่นที่มักพบเจอบ่อยๆ ของระบบช่วงล่างเมื่อรถยนต์ผ่านการใช้งานหลายๆ ปีมีอะไรบ้าง
เกิดเสียงเมื่อโยกพวงมาลัยซ้าย-ขวา
ข้อต่อทุกจุดย่อมหลวมได้เสมอ อาการ - จอดรถอยู่กับที่และทดลองโยกพวงมาลัยไปมาสลับซ้าย-ขวา ให้สังเกตว่ารู้สึกสะเทือนที่มือเราหรือไม่ หากช่วงล่างเริ่มหลวม เมื่อโยกไป-มาจะมีทั้งเสียงดังกุกกัก และจะรับรู้แรงสะเทือนได้จากพวงมาลัย จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าชิ้นส่วนนั้นเสียหายมากน้อยแค่ไหน
สาเหตุ - จุดข้อต่อ-ลูกหมากคันชักคันส่ง/ลูกหมากปลายแร็คฯ พวงมาลัยหลวมหมดสภาพ, ยอยหรือจุดเชื่อมต่อแกนพวงมาลัยไปสู่ชุดแร็คฯ หลวม, ลูกหมากปีกนกบน/ล่างหรือบูชปลายปีกนกด้านหน้าหลวมหมดสภาพ, ลูกปืนล้อหน้าแตกหมดสภาพ เป็นต้น
การซ่อมบำรุง - สามารถเลือกได้หลายวิธีเช่น เข้าศูนย์บริการโดยตรง, เปลี่ยนอะไหล่จากศูนย์บริการภายนอกที่ได้มาตรฐาน, อู่ที่รู้จักคุ้นเคยหรือได้มาตรฐาน (ต้องรู้จักหรือไว้ใจได้พอควร) และการซื้ออะไหล่จากแหล่งโดยตรง (วรจักร/เชียงกง ฯลฯ) หามาเองแล้วให้ศูนย์ฯ หรืออู่เปลี่ยนให้ ทั้งนี้การซ่อมบำรุงขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณเองครับ
ออกตัวดังกึก
สาเหตุหนึ่งคือ ลูกหมากปีกนกล่างหลวม สาเหตุอีกประการคือ ร่องสไปลน์หลวม อาการ - สังเกตขณะออกตัวว่ามีเสียงแปลกที่ไม่คุ้นเคยเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ออกตัวเบาๆ ไม่มีเสียงแต่ออกตัวแรงขึ้นเริ่มมีเสียงดังคล้ายเหล็กกระทบกันหรือเสียงคล้ายยางเบียดกัน นั่นแสดงว่าอาจมีบางอย่างผิดปกติ
สาเหตุ - อาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ชุดล็อคผ้าเบรกล้อหน้าหลวม, ลูกปืนล้อแตก-หลวม, แท่นเครื่องยนต์หรือเกียร์ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งหมดทรุด/หลวม, ระบบเพลาส่งกำลัง (กรณีรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้า) จุดที่สวมเข้ากับเฟืองท้าย (ในเสื้อเกียร์) สึกหรอ/หลวม เป็นต้น
ซ่อมบำรุง - ชุดล็อคผ้าเบรก หากเบรกยังหนาอยู่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ถอดทำความสะอาดปรับตั้งชุดเหล็กล็อกผ้าเบรคและหล่อลื่นจาระบีที่แผ่นรองกับชุดล็อคผ้าเบรก (ระวังห้ามจารบีสัมผัสถูกจานและผ้าเบรก) แท่นเครื่อง/เกียร์มีส่วนประกอบของยางรวมด้วยเมื่อผ่านการใช้งานนานๆ แล้วมักจะเสื่อมแข็งตัวกรอบและยุบลง ตรวจดูว่าตัวไหนที่ทรุดให้เปลี่ยนทันที และหากตัวอื่นสภาพของยางเริ่มแข็งตัวก็ควรเปลื่ยนพร้อมกันด้วยจะเสียค่าแรงครั้งเดียวคุ้มกว่าครับ สำหรับเพลาขับเคลื่อนโอกาสที่จะสึกน้อยตามลักษณะและระยะทางที่ใช้งาน และก็เป็นชิ้นส่วนที่ซ่อมไม่ได้ เปลี่ยนยาก และราคาของใหม่ค่อนข้างสูงมาก ส่วนใหญ่นิยมเปลี่ยนอะไหล่เทียบหรืออะไหล่เก่าจากเชียงกง ซึ่งทนทานไม่แพ้กันในราคาย่อมเยากว่า สามารถเลือกตามกำลังทรัพย์ของคุณเองได้ ส่วนจะเข้ารับบริการที่ใดนั้นแล้วแต่ความสะดวกครับ
อาการ "เบรกสู้เท้า"
เหยียบเบรกแล้วมีแรงต้านกลับ อาการ - เมื่อวิ่งมาแล้วลดความเร็วด้วยการแตะเบรกเบาๆ รู้สึกถึงแรงต้าน "สู้เท้า" ที่แป้นเบรกหรือบางครั้งจะรู้สึกดันกลับเองเป็นจังหวะคล้ายกับถูกดันถอยกลับออกมาเป็นจังหวะสลับกัน
สาเหตุ - เกิดจากที่ผิวของจานเบรกไม่เรียบ เมื่อใช้งานนานๆ ผ้าเบรกกับจานเบรกเป็นส่วนที่สัมผัสเสียดสีกันตลอดเวลาและเมื่อเราเหยียบเบรกผ้ากับจานจะถูกบีบอัดกันจนอาจเกิดร่องรอยสึกหรอได้ ทำให้เป็นคลื่นๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ลักษณะนี้จะรู้สึกเพียงเบาๆ และอีกสาเหตุก็คือ จานเบรก "คด" นั่นเอง จึงส่งผลให้เมื่อเบรกแล้วไม่สม่ำเสมอกัน ช่วงที่จานโก่งตัวก็จะดันผ้าเบรกถอยกลับทำให้เท้าผู้ขับรับรู้ถึงแรงต้านได้ชัดเจนมากขึ้น อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "อาการบอกเหตุเมื่อเบรกเริ่มมีปัญหา" การซ่อมบำรุง - หากจานเบรกเป็นรอยให้ถอดล้างทำความสะอาดและใช้กระดาษทรายลูบเบาๆ ทั้งที่ผิวของจานและผิวหน้าสัมผัสของผ้าเบรก เพื่อลบร่องรอยที่ขรุขระออก (ได้เพียงบางส่วน) ส่วนกรณีจานเบรกที่ "คด" ควรเปลี่ยนใหม่โดยจะใช้อะไหล่แท้หรืออะไหล่ OEM (ผู้ผลิตโดยตรงส่งค่ายรถ) หรืออะไหล่จากบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบเบรกอื่นๆ ที่ได้มาตรฐานก็ได้ ตามกำลังทรัพย์ และจะเลือกใช้บริการเปลี่ยนที่ใดก็ตามสะดวกครับ
บูช-ลูกหมากต่างๆ หลวม
บูชต่างๆ และชิ้นส่วนที่สามารถเคลื่อนตัวได้ มีโอกาสหลวมด้วยกันทั้งนั้น อาการ - เมื่อขับผ่านสภาพถนนไม่เรียบเป็นคลื่นเล็กๆ มีเสียงกุกกัก และมีแรงสะเทือนที่พวงมาลัย
สาเหตุ - คล้ายๆ กับการโยกพวงมาลัยแล้วเกิดเสียงดังนั่นคือ จุดข้อต่อ/จุดหมุนที่เคลื่อนไหวของระบบช่วงล่างด้านหน้าหรือชุดลูกหมากคันชักคันส่งแร็คฯ พวงมาลัยหลวม รวมถึงส่วนแกนของโช้กอัพอาจเป็นรอยทำให้เมื่อยุบตัวรอยที่เกิดรอบแกนโช้กขูดกับกระบอกโช้กจึงเกิดเสียงดังขึ้น
การซ่อมบำรุง - หากตรวจพบบูชปีกนกหน้า-ลูกหมากจุดข้อต่อต่างๆ หลวมเสื่อมสภาพควรเปลี่ยนใหม่ ในส่วนของโช้กอัพหากเป็นรอยมีวิธีซ่อมแซมเบื้องต้นคือ เข้าร้านซ่อมโช้กอัพเพื่อถอดเปลี่ยนแกนโช้กที่เป็นรอยออกและใส่แกนอันใหม่ (ของเก่าที่สภาพยังดีอยู่) แทนและอัดน้ำมันโช้กในระดับความหนืดเท่ากับเดิม วิธีนี้ต้องเสี่ยงในเรื่องของฝีมือช่างพอสมควร ดังนั้นควรศึกษาร้านซ่อมโช้กอัพที่เชื่อถือบอกขั้นตอนการซ่อมอย่างละเอียด และมีระยะเวลารับประกันงานซ่อมนานๆ และอีกวิธีหนึ่งคือเปลี่ยนของใหม่ใส่แทนโดยจะใช้ของแท้หรือโช้กยี่ห้ออื่นๆ ที่ได้มาตรฐานตามท้องตลาดก็ย่อมได้
ยิ่งเร็วยิ่งสั่น
การเปลี่ยนล้อแม็กต่างจากสเปคเดิมของโรงงาน อย่าลืมใส่ปลอกกันสั่น ปลอกกันสั่น อาการ - วิ่งเร็วแล้วพวงมาลัยสั่นหรือบางครั้งสั่นทั้งคัน ณ ช่วงความเร็วหนึ่ง เช่น เริ่มสั่นที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เมื่อเกินจากนี้หายและกลับมาสั่นอีกที่ความเร็ว 120 กม./ชม. เป็นต้น
สาเหตุ - อาการนี้ส่วนมากเกิดจากการถ่วงล้อทั้ง 4 ล้อที่ไม่ได้ค่าที่ถูกต้องจึงเกิดแรงเหวี่ยงในจุดที่วงล้อมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ทำให้ล้อกลิ้งด้วยน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ หรือเกิดจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ด้วยสภาพของยางที่สึกหรอเ ปลี่ยนรูปร่างไปบ้าง ทำให้ยางไม่กลมเท่าเดิม และเกิดจุดที่มีน้ำหนักไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดการสั่นขณะวิ่งได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยแม้จะเป็นยางที่มีอายุการใช้งานไม่มากนักนั่นคือ "ยางบวม" ซึ่งส่งผลให้วงล้อกลิ้งได้ไม่กลม
การซ่อมบำรุง - ถ่วงล้อทุกครั้งเมื่อถึงกำหนด สลับยางบ้าง โดยทั่วไปต้องสลับยางทุกๆ 5,000 กม.แรก และต่อไปทุกๆ 10,000 กม. เพื่อให้ยางสึกหรอเท่าๆ กัน สำหรับอาการ "ยางบวม" นั้น ควรเปลี่ยนใหม่ทันที หากยังอยู่ในระยะประกันคุณภาพของผู้ผลิตสามารถเคลมใหม่ได้โดยติดต่อกับร้านที่เข้ารับบริการ
นอกจากนี้ อาการวิ่งแล้วสั่น อาจเกิดจากการเปลี่ยนล้อแม็กแล้วไม่ได้ใส่ "ฮับ" หรือ "แหวนรองดุมล้อกันสั่น" หรือ "ปลอกกันสั่น" ตามแต่จะเรียก เพราะช่องว่างตรงดุมล้อของแม็กที่เปลี่ยนมาอาจทำขนาดเอาไว้กว้างๆ เพื่อให้ใส่ได้กับรถหลายรุ่น จึงมีโอกาสเกิดช่องว่างระหว่างบ่าของดุมล้อตัวรถ และบ่าของวงล้อแม็กไม่แนบสนิทกัน เมื่อวิ่งความเร็วสูงๆ จะทำให้มีการแกว่งและสั่นตามมาหากไม่ใส่ฮับที่ดุมล้อป้องกันไว้
การสั่นของพวงมาลัยที่เกิดขึ้นอาจมีอีกหลากหลายปัจจัยนอกจากบทความข้างต้นนี้ และการนำรถเข้ารับบริการซ่อมบำรุงก็สามารถทำได้หลายวิธีครับ ตามความเหมาะสมความสะดวกและกำลังทรัพย์ของเราเอง แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำสม่ำเสมอให้เกิดความเคยชินก็คือ การสังเกตสภาพโดยรวมของรถยนต์ที่เราขับว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นบ้าง ก่อนจะสตาร์ตรถยนต์และขับออกไปทุกครั้ง ผู้ใช้รถยนต์ควรหมั่นตรวจเช็คดูแลระบบช่วงล่างของรถ ทั้งระบบบังคับเลี้ยว ระบบเบรก ระบบกันสะเทือน ฯลฯ รวมทั้งช่วงด้านหลังก็ด้วยเช่นกัน เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถและความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ของคุณเองนะครับ