อาการบอกเหตุ เมื่อเบรกเริ่มมีปัญหา
ระบบเบรกเป็นระบบสำคัญลำดับต้นๆ ของรถยนต์ เพราะเป็นระบบที่ใช้ในการหยุดรถ การชะลอเพื่อควบคุมรถยนต์ขณะเข้าทางโค้ง ทางลาดชัน ยิ่งในสถานการณ์คับขัน ระบบเบรกยิ่งมีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่ผู้ใช้รถทุกคนควรใส่ใจ
ในรถยนต์ใหม่ระบบเบรกอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพียงแต่เราหมั่นคอยเช็คระดับน้ำมันเบรกไม่ให้ต่ำกว่าระดับปกติเท่านั้น และอาจสังเกตจากเสียงดังเวลาเบรกหรือเบรกแล้วตื้อไม่ค่อยอยู่ ต้องเพิ่มแรงเหยียบมากขึ้นถึงจะอยู่ ซึ่งประสิทธิภาพของเบรกนั้น ก็แล้วแต่ความสามารถของระบบเบรกของรถแต่ละรุ่น ชนิดหรือเกรดของผ้าเบรก และสภาพผิวถนนเป็นจะอย่างไรด้วย
ระบบเบรกเริ่มมีปัญหา สังเกตจากอะไรบ้าง
ขณะเบรกมีเสียงเกิดขึ้น
อาการที่บ่งบอกว่า เบรกเริ่มมีปัญหาแล้ว อันดับแรกที่ชัดที่สุดก็คือ เวลาเบรกแล้วมีเสียงดังคล้ายเหล็กเสียดสีกันเบาๆ หรือมีเสียงคล้ายเหล็กขูดกับจานเบรกดังมาก และรู้สึกถึงเท้าที่แป้นเบรก หรือมีเสียงดังคล้ายเหล็กกระทบกันดัง "ก๊อกๆ"
1. ขณะเบรกมีเสียงเบาๆ วี้ดๆ คล้ายโลหะเสียดสีกัน
เกิดจากมีขี้ฝุ่น หรือเศษผงจากเขม่าของเนื้อผ้าเบรกเองเข้าไปอยู่ระหว่างหน้าสัมผัสของผ้าเบรกและจานเบรก ทำให้หน้าสัมผัสไม่แนบสนิท 100% จึงเกิดเสียงดัง อาการนี้ใช้ไปสักพักจะหาย และอาจดังขึ้นอีกหากมีเศษฝุ่นเข้าไป แต่ไม่มีผลกับสมรรถนะของเบรก
เกิดเขม่าหรือขี้ฝุ่นหนาบริเวณหน้าสัมผัสระหว่างจานและผ้าเบรก ควรทำความสะอาดบ่อยๆ
2. ขณะเบรก เกิดเสียงคล้ายเหล็กขูดกัน และสั่นแรงถึงแป้นเบรก
ลักษณะนี้เป็นสัญญาณบอกว่าผ้าเบรกใกล้จะหมด หรือหมดเกลี้ยงแล้ว นั่นคือตัวผ้าเบรกเหลือน้อยต่ำกว่ามาตรฐานหรืออาจหมดเกลี้ยงจนถึงแผ่นโลหะที่ยึดผ้าเบรก จึงเกิดการเสียดสีระหว่างเหล็กกับเหล็ก และเกิดเสียงดังขึ้น ซึ่งการปล่อยให้ผ้าเบรกหมดถึงเนื้อเหล็กขูดกับจานเบรก จะทำให้จานเบรกเป็นรอย โดยจะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าขับมาแล้วนานแค่ไหน และเมื่อจานเบรกถูกขูดเป็นรอยลึกมากๆ อาจไม่สามารถเจียจานให้เรียบกลับเหมือนเดิมได้ เพราะจะต้องเจียส่วนที่เป็นรอยออกไปหนามากๆ ทำให้จานมีความบางลงและความแข็งแรงจะลดลงตามไปด้วย ควรเปลี่ยนใหม่อย่างเดียวครับ
อันนี้ความหนาของเนื้อผ้าเบรกเกิน 2 มม.ยังใช้ได้ วัดความหนารวมทั้งชุดเหล็กประกบและเนื้อผ้าเบรกไม่ต่ำกว่า 7 มม. ผ้าเบรกที่หมดเกลี้ยง จนขูดจานเบรกเป็นรอย ส่วนของเนื้อผ้าเบรกที่บางต่ำกว่า 2 มม. ควรเปลี่ยน 3. เสียงดัง "ก๊อกๆ" เหมือนมีชิ้นส่วนหลวม
เป็นเสียงของตัวผ้าเบรกที่ดิ้นตัวไปมาได้ขณะเบรก ไม่แนบสนิทกับที่ล็อคผ้าเบรก จึงทำให้มีเสียงเหมือนผ้าเบรกขยับตัวเวลาเบรก สาเหตุมักมากจากคลิบล็อคแผ่นผ้าเบรกหลวม หรือคลายตัวออกมาเล็กน้อย จากการใช้งานนาน และการเบรกอย่างรุนแรงเมื่อขับที่ความเร็วสูงๆ อาการนี้ควรเข้าศูนย์บริการเพื่อปรับตั้งและทำความสะอาด
ควรทำความสะอาด และทาจาระบีที่แผ่นล็อกผ้าเบรก ระวัง! อย่าให้จาระบีถูกจานและผิวสัมผัสผ้าเบรก จานเบรกคดหรือบิดเบี้ยว สาเหตุนั้นเกิดได้หลายกรณี เช่น ขับด้วยความเร็วสูงๆ แล้วเบรกอย่างกะทันหัน, ขับต่อเนื่องนานๆ มีความร้อนสะสมที่จานเบรกแล้วขับผ่านแอ่งน้ำลึก จานถูกน้ำที่อุณหภูมิต่ำ ความร้อนจัดเจอกับเย็น จึงทำให้จานขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผิดรูปร่างเดิม, การเกิดอุบัติเหตุ/แรงกระแทกจากการชน ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้จานเบรกคด หรือบิดตัวได้
จานเบรกที่คด-บิดเบี้ยว-ผิดรูป จะสังเกตได้จากอาการ "เบรกสู้เท้า" เป็นอาการที่เมื่อเราเหยียบเบรกแล้วรู้สึกเหมือนแป้นเบรกนั้นขยับสู้แรงเท้าเราเป็นจังหวะๆ ตามความเร็วรถขณะวิ่ง นั่นคืออาการของจานเบรกที่เริ่มคด หรือบิดตัวไม่เรียบเสมอกับผ้าเบรก จึงทำให้แผ่นจานเบรกที่ไม่เรียบนั้นแกว่งไม่ได้ศูนย์ และหน้าสัมผัสของจานที่ส่วนที่คดนั้น ต้านการเคลื่อนตัวของลูกสูบเบรก และมีการดันผ้าเบรกสวนทางกลับเข้าระบบและดันกลับมาที่แม่ปั๊มและแป้นเบรก เราจึงรู้สึกได้ที่เท้าขณะเหยียบเบรก หรือในบางครั้ง พวงมาลัยก็จะสั่นด้วยเช่นกัน
นึกถึงพ่อครัวกำลังควงแป้งพิซซ่า ขอบแป้งจะหมุนไม่เรียบสม่ำเสมอ ระบบไหลเวียนน้ำมันเบรกเป็นระบบปิด มีลักษณะถ่ายเทกำลังไป-กลับ เมื่อจานเบรกคด จะผลักดันผ้าและลูกสูบเบรกให้ถอยกลับ น้ำมันเบรกจึงถูกดันไหลกลับไปสู่กระบอกแม่ปั๊มเบรกตัวบน และดันชุดลูกสูบเบรกตัวบนส่งกลับมายังแป้นเบรกจึงเกิดอาการเบรกสู้เท้านั่นเองครับ
การรั่วของระบบไหลเวียนน้ำมันเบรก มีทั้งแบบรั่วภายในระบบและรั่วออกนอกระบบ มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้
1. เบรกรั่วในระบบ
สังเกตได้จากระดับน้ำมันเบรกจะไม่ลดระดับลงหรือแห้งหายไป (เว้นกรณีผ้าเบรกสึกจากการใช้งาน) การรั่วในระบบนี้จะไม่สามารถดูรอยรั่วตามข้อต่อหรือระบบท่อทางเดินน้ำมันเบรกและการหยดลงพื้นได้เลย
อาการที่พบคือ เมื่อเราเหยียบเบรกค้างเอาไว้ แป้นเบรกจะค่อยๆ จมลงทีละนิดจนสุด แบบนี้แสดงว่ามีการรั่วเกิดขึ้น และส่วนมากเกิดจากชุดลูกยางของแม่ปั๊มเบรกตัวบน (ใกล้กับแป้นเบรก) ที่ไม่สามารถดันน้ำมันเบรกให้ไหลไปที่ปลายทางได้ เพราะขอบลูกยางรั่วจึงสร้างแรงดันได้ไม่สมบูรณ์
เมื่อตรวจเช็คแล้วว่าเกิดจากแม่ปั๊มรั่ว ควรเปลี่ยนอะไหล่ที่เรียกกันว่า "ชุดซ่อมแม่ปั๊มเบรก" และสังเกตพื้นผิวกระบอกแม่ปั๊มด้วยว่าไม่มีรอยขูด ไม่เช่นนั้นเมื่อเปลี่ยนชุดซ่อมไปนั้น ส่วนที่เป็นรอยในกระบอกปั้มจะขูดลูกยางที่เปลี่ยนมาใหม่เป็นรอยและเกิดการรั่วได้ หากพบว่าผิวของกระบอกแม่ปั๊มมีรอยมากก็ควรเปลี่ยนแม่ปั๊มพร้อมกันไปเลยครับ
แม่ปั๊มเบรกพร้อมหม้อลม ติดตั้งตรงส่วนนี้ กระบอกแม่ปั๊มเบรก ชุดลูกยางแม่ปั๊มเบรก 2. เบรกรั่วออกนอกระบบ
การรั่วนอกระบบจะสังเกตได้ง่ายที่สุด เพราะมักจะมองเห็นร่องรอยการหยด การซึมตามจุดต่างๆ ที่เป็นข้อต่อทางเดินของระบบท่อน้ำมันเบรก
ดูรอยรั่วของนำมันเบรกที่พื้น มักเป็นของเหลวสีเหลือง ส่วนอาการคือ เมื่อเหยียบแป้นเบรกค้างไว้ จะค่อยๆ จมลงจนสุดเช่นเดียวกับแบบรั่วภายในระบบ แต่จะต่างที่เมื่อเปิดกระบอกที่เติมน้ำมันเบรกแล้ว น้ำมันเบรกจะลดหรือแห้ง ต้องคอยเติมอยู่บ่อยๆ นั่นแสดงว่ามีการหยดหรือรั่วออกจากท่อทางเดินน้ำมันเบรกครับ
เมื่อเปิดฝากระบอกเติมน้ำมันเบรก มักแห้งต้องเติมบ่อย จุดข้อต่อต่างๆ ของท่อทางเดินน้ำมันเบรกไหลไปสู่คาลิปเปอร์เบรกที่ล้อทั้ง 4 สายอ่อนเบรกที่คาลิปเปอร์ ตรวจดูลูกสูบคาลิปเปอร์เบรกว่ามีรอยซึมหรือไม่ รวมถึงกระบอกปั๊มเบรกทั้ง 4 ล้อด้วย ภาพนี้เป็นดรัมเบรก ตรงจุดนี้ก็มีโอกาสรั่ว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการตรวจเช็คเบื้องต้นเท่านั้น แม้ผู้ขับขี่จะไม่ชำนาญเรื่องเครื่องยนต์กลไก ก็สามารถดูแลและสังเกตได้ด้วยตัวคุณเองไม่ว่ารถยนต์ใหม่หรือรถยนต์เก่า ย่อมใช้หลักการตรวจเช็คเบื้องต้นแบบเดียวกันครับ
อย่าลืมนะครับ ระบบเบรกสำคัญมากสำหรับการควบคุมรถยนต์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ต่อให้ระบบเบรกรถคุณดีเพียงใด หากขับรถโดยประมาท เช่น จี้ท้ายรถคันหน้า เมื่อเกิดการเบรกกะทันหัน เบรกก็อาจจะช่วยไม่ทันนะครับ นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญ และผู้ขับขี่ทุกคนควรใส่ใจ ก็คือ
"เรื่องของยาง" เมื่อเราดูแลเบรกเป็นอย่างดี และยางที่ใช้มีคุณภาพ ก็จะทำให้การขับขี่ของทุกคนปลอดภัยขึ้นครับ