สำหรับคนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้วรู้สึกว่าตอนรูดสบายใจ แต่พอตอนจ่ายทำไมรู้สึกหม่นหมองเพราะยอดหนี้บัตรเครดิตเยอะเกินไป เลยจ่ายเพียงยอดขั้นต่ำ หยุด! คิดคำนวณสักนิด หากเราตัดสินใจจ่ายค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำ เราจะเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ ธนาคารมีวิธีคำนวณอย่างไร วันนี้เรารวมมาให้แล้ว….
วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีแบบไหนบ้าง
ก่อนอื่นเรามาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตกันก่อน ว่าสามารถแบ่งออกเป็นแบบไหนบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดังนี้
1. คิดดอกเบี้ยแบบเต็มจำนวน คือ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจะถูกคิดตามยอดคงเหลือในบัญชีบัตรเครดิต (หรือยอดที่เราใช้จ่าย) ทุกวัน และนำไปหารด้วยจำนวนวันในรอบบัญชีนั้นๆ ซึ่งการคำนวณวิธีนี้จะใช้เมื่อเราไม่ได้จ่ายยอดบัตรเครดิตเต็มจำนวนในแต่ละรอบบัญชี
2. คิดดอกเบี้ยจากยอดใช้จ่ายที่ค้างชำระ คือ ดอกเบี้ยจะถูกคิดจากยอดใช้จ่ายที่ยังไม่ได้ชำระเมื่อถึงกำหนด
เมื่อรู้วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตกันแล้ว เราลองมาคำนวณกันว่า หากเราใช้บัตรเครดิตแล้วจ่ายไม่ครบเต็มจำนวน หรือจ่ายล่าช้า เราจะเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่บ้าง
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต
ในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างการคำนวณ 3 รูปแบบ คือ 1. การคิดดอกเบี้ยกรณีที่เราจ่ายตรงเวลา แต่จ่ายเพียงยอดขั้นต่ำ ,2. การคิดดอกเบี้ยกรณีที่เราจ่ายล่าช้า ไม่ตรงตามกำหนด แต่จ่ายคืนเต็มจำนวน และ 3. การคำนวณดอกเบี้ยในกรณีที่เราเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต ซึ่งแต่ละแบบมีวิธีการคำนวณดอกเบี้ย ดังนี้
1. กรณีจ่ายขั้นต่ำ ตามกำหนดชำระ
ในกรณีที่เราใช้บัตรเครดิต และจ่ายยอดขั้นต่ำเมื่อถึงกำหนดชำระ ธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ย 2 ส่วน คือ
- ดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นทั้งหมด (แบบเต็มจำนวน) นับจากวันที่บันทึกรายการจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระ 1 วัน
- ดอกเบี้ยจากยอดค้างชำระ นับจากวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีในรอบถัดไป
ตัวอย่าง
- นางสาวอิ่มเอม ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า 50,000 บาท เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
- บัตรเครดิตสรุปยอดทุกวันที่ 25 ของเดือน
- วันครบกำหนดชำระเงิน ทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป
- อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต อยู่ที่ 16%ต่อปี (*ธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยจากวันที่บันทึกรายการจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระ 1 วัน)
- ในวันที่ 10 สิงหาคม นางสาวอิ่มเอมเลือกชำระขั้นต่ำ 10% คิดเป็นจำนวน 5,000 บาท
ดังนั้น ในกรณีนี้นางสาวอิ่มเอมจะถูกคิดดอกเบี้ย เท่าไหร่?
วิธีคำนวณดอกเบี้ยส่วนที่ 1 จากยอดเรียกเก็บทั้งหมด
ยอดเรียกเก็บ X อัตราดอกเบี้ย(ต่อปี) X จำนวนวัน*/จำนวนวันใน 1 ปี *จำนวนวัน => วันที่บันทึกรายการ 5 กรกฎาคม ถึงวันก่อนครบกำหนดชำระ 1 วัน คือ 9 สิงหาคม เท่ากับ 36 วัน 50,000 x 16% x 36 / 365 วัน = 789.04 บาท ดังนั้น ดอกเบี้ยส่วนที่ 1 ที่คำนวณจากยอดเรียกเก็บทั้งหมด คิดเป็น 789.04 บาท |
วิธีคำนวณดอกเบี้ยส่วนที่ 2 คำนวณจากยอดค้างชำระ (โดยจะคิดคำนวณตั้งแต่วันที่ชำระยอดขั้นต่ำ จนถึงวันสรุปยอดรอบถัดไป)
ค่าคงค้าง X อัตราดอกเบี้ย(ต่อปี) X จำนวนวัน**/จำนวนวันใน 1 ปี **จำนวนวัน => นับจากวันที่ชำระยอดขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีรอบถัดไป วันที่ 10 - 25 สิงหาคม เท่ากับ 16 วัน 45,000 x 16% x 16 / 365 วัน = 315.62 บาท ดังนั้น ดอกเบี้ยส่วนที่ 2 ที่คำนวณจากยอดคงค้าง คิดเป็น 315.62 บาท |
จากการคำนวณข้างต้น นางสาวอิ่มเอม จะถูกคิดดอกเบี้ยจากยอดใช้จ่ายครั้งนี้ สำหรับกรณีที่จ่ายขั้นต่ำ จำนวน 789.04 + 315.62 = 1,104.66 บาท
และจะมียอดเรียบเก็บในบิลที่สรุปยอดวันที่ 25 สิงหาคม จากยอดคงค้างพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 45,000 + 1,104.66 = 46,104.66 บาท โดยสามารถจ่ายในรอบเรียกเก็บวันที่ 10 กันยายน
2. กรณีจ่ายคืนเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงเวลา
ในกรณีที่เราชำระค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงตามกำหนดชำระ จะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ใช้จ่ายหรือวันที่ทำการบันทึกรายการ จนถึงวันที่เราได้ชำระหนี้ครบทั้งหมด โดยสามารถคำนวณได้ ดังนี้
จากตัวอย่างในข้อ 1 หากนางสาวอิ่มเอม ชำระหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวน แต่ถูกคิดดอกเบี้ยของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันที่ชำระคืนครบ (รวม 45 วัน) นางสาวอิ่มเอมจะเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่?
ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน*** / จำนวนวันใน 1 ปี ***จำนวนวัน นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย คือ 50,000 x 16% x 45 / 365 = 986.30 บาท ดังนั้น ดอกเบี้ยจากกรณีจ่ายคืนเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลา คิดเป็น 986.30 บาท |
ดังนั้น หากนางสาวอิ่มเอมจ่ายหนี้บัตรเครดิตครบเต็มจำนวน แต่จ่ายล่าช้า จะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่ม 986.30 บาท รวมถึงอาจจะต้องชำระค่าทวงถามหนี้เพิ่มเติม ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/รอบบัญชี + vat 7% = 107 บาท รวมเป็นต้องชำระทั้งสิ้น (50,000 + 986.30 + 107 = 51,093.30 บาท) และการชำระหนี้ล่าช้า จนเกิดมีค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามอาจส่งผลต่อประวัติการชำระหนี้อีกด้วย
3. กรณีเบิกถอนเงินสดออกมาใช้จ่าย
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า การรูดเงินสดจากบัตรเครดิต จะไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และจะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่รูดออกมา รวมถึงมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนอีกประมาณ 3% ของจำนวนเงินที่เบิกถอน ไม่ว่าเราจะชำระหนี้ยอดหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น
- นายเอนกรูดเงินสดด้วยบัตรเครดิตจำนวน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม
- วันสรุปยอดบัญชีคือทุกวันที่ 10 ของเดือน
- วันครบกำหนดชำระเงิน ทุกวันที่ 25 ของเดือน
- อัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ 16% ต่อปี
นายเอนกต้องการชำระเงินยอดที่เบิกถอนเงินสดพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ในวันที่ 25 กรกฎาคมนายเอนกต้องเสียดอกเบี้ยจากการเบิกถอนเงินสดเป็นจำนวนเท่าไร?
วิธีคำนวณดอกเบี้ย
จำนวนเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวัน**** / จำนวนวันใน 1 ปี ****จำนวนวัน นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน (จากตัวอย่างข้างต้น นายเอนกเบิกเงินสด ตั้งแต่วันที่ 2 จะชำระวันที่ 25 กันยายน คิดเป็นจำนวน 23 วัน) เราสามารถคำนวณดอกเบี้ยจากการเบิกถอนเงินสดครั้งนี้ได้ = 20,000 x 16% x 23/365 = 204.64 บาท นอกจากนี้ นายเอนกยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเบิกถอนเงินสดอีก 3% ของยอดเงิน คิดเป็น 20,000 x 3% = 600 บาท ดังนั้น นายเอนกต้องจ่ายเงินปิดยอดหนี้ครั้งนี้ทั้งสิ้น 20,000 + 204.64 + 600 = 20,804.64 บาท |
สรุปแล้ว เมื่อรู้ว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะเกิดจากกรณีไหนได้บ้าง และทราบวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตกันแล้ว หากเราไม่อยากมีหนี้พอกพูนจากบัตรเครดิต วิธีที่ดีที่สุด คือ เรารูดไปเท่าไร เราควรจ่ายเต็มจำนวน และตามกำหนดเวลา ด้วยนะคะ ทำได้แบบนี้ รับรองว่าใช้บัตรเครดิตอย่างมีความสุขแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.set.or.th, www.ktc.co.th